วันที่ 30 ส.ค.64 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวประจำวัน ว่า ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 32 เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา
รายละเอียดสำคัญขอทำความเข้าใจ คือ การแบ่งพื้นที่ ยังเป็น 3 พื้นที่ คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 37 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 11 จังหวัด
หลายคนถามว่ายังติดเชื้อเป็นหมื่นรายทำไมรีบปลดล็อก ขอชี้แจงว่า ที่ประชุม "ไม่ได้ใช้คำนี้ว่าปลดล็อก" และไม่ได้ใช้คำว่าผ่อนคลาย เราใช้ว่าปรับมาตรการบนหลักการ Smart Control and Living with COVID 19 ซึ่งทั่วโลกก็ปรับมาตรการทางสังคมเพื่ออยู่ร่วมกับโควิดทั้งสิ้น เป็นวิถีชีวิตใหม่ (นิวนอร์มัล) ต้องพยายามทำความคุ้นเคย ซึ่งเราจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ จึงต้องขอความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการ
1. การจัดกิจกรรมมีการปรับตัวเลขให้คนพบปะได้มากขึ้น โดยพื้นที่แดงเข้มได้ 25 คน พื้นที่สีแดง 50 คน พื้นที่สีส้ม 100 คน
2. การเตรียมมาตรการภาครัฐ การจัดหา จัดสรรวัคซีน ยา เครื่องมือแพทย์ รพ.สนาม สถานพยาบาล ให้ประชาชนส่วนบุคคล องค์กร ผู้ประกอบการแต่ละประเภท รับทราบและแนะนำแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อ คือ ต้องปรับตัวเข้ากับภาวะติดเชื้อ เหมือนที่เราใช้ชีวิตร่วมกับไข้หวัดใหญ่และวัณโรค
โดยเฉพาะมาตรการป้องกันติดเชื้อครอบจักรวาล (Universal Prevention) ผู้ประกอบการ ผู้รับชอบองค์กรหน่วยงาน ตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยโดยใช้ COVID Free Setting ลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรคของสถานที่ กิจการ กิจกรรมที่ได้อนุญาตให้เปิดดำเนินการ เพื่อเตรียมบังคับใช้อนาคต มีการประเมินผลใน 1 เดือน โดย เดือนก.ย.เป็นเดือนการทดสอบระบบจากความคิดนี้
3. เคอร์ฟิว 21.00-04.00 น. ยืดออกไปอีก 14 วัน จนถึงวันที่ 14 ก.ย. สำหรับพื้นที่สีแดงเข้ม
4. คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม./จังหวัด กำกับดูแลติดตามการดำเนินการของสถานที่ กิจการ กิจกรรมในพื้นที่สีแดงเข้มที่ได้ปรับตามมาตรการ ดังนี้ 1) โรงเรียน อนุญาตใช้อาคารสถานที่สอบ สอน ฝึกอบรมได้ ต้องมีการปรึกษากันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา และ สธ.กำหนดขึ้น
2) ร้านอาหาร บริโภคในร้านได้ไม่เกิน 20.00 น. ห้ามขายแอลกอฮอล์ จำกัดจำนวนที่นั่ง ห้องแอร์ไม่เกิน 50% เปิดโล่ง 75% รวมถึงร้านอาหารในห้าง
ส่วนนอกห้าง 3) สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผมเปิดได้ 4) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ นวดแผนไทยเฉพาะนวดเท้า 5) ตลาดนัด เปิดถึง 20.00 น.
6) ในห้างให้ทำเหมือนกัน เปิดตามเวลาปกติจนถึง 20.00 น. เว้นกิจการที่กำหนดเงื่อนไขหรือยังต้องปิดดำเนินการก่อน โดยที่เปิดได้ คือ สถานเสริมความงาม ร้านตัดผมเสริมสวย สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ นวดแผนไทยเฉพาะนวดเท้า
โดยต้องเป็นการนัดหมายทั้งหมด ส่วนสถานบันกวดวิชา โรงหนัง สวนสนุก สวนน้ำ สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส เครื่องเล่น ร้านเกม การจัดเลี้ยง หรือการจัดประชุม ยังให้ปิดดำเนินการ
7) สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำ เปิดไม่เกิน 20.00 น. การซ้อมแข่งขันกีฬาไม่มีผู้ชม 8) การเดินทางข้ามจังหวัดออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดได้ จำกัดผู้โดยสารไม่เกิน 75% ของพื้นที่ มีการระบายอากาศด้วย
แต่ขอให้เดินทางเฉพาะมีเหตุจำเป็น ซึ่งในสายการบิน ทางสถาบันการบินพลเรือนจะมีมาตรการต่างๆ ออกมา ซึ่งจะมีข้อย่อยๆ ออกมาในแต่ละประเภทการเดินทาง ทั้งนี้ ศปค.ศบค.จะประเมินข้อกำหนด หากเห็นว่าควรปรับเปลี่ยนหรือขยายมาตรการในเรื่องใดให้ชัดเจน เหมาะสม ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถเสนอนายกฯ พิจารณาสั่งการได้
“ปัจจัยความสำเร็จ รัฐออกข้อกำหนด รอ สธ.ทำรายละเอียดมาตรการ ภาคเอกชน ทำโควิดฟรีเซตติ้ง โดย ก.ย.เป็นเดือนการทดสอบระบบ ซึ่งผู้ประกอบการ ร้านค้า สมาคมมาคุยก็พร้อมให้ความร่วมมืออย่างดี
ส่วนภาคประชาชนไปใช้บริการให้ตระหนักป้อกกันตัวขั้นสูงสุด คิดเสมอว่าคนใกล้เราติดเชื้อได้ จะเห็นภาพการทดสอบระบบใน ก.ย.นี้ 14 วัน จะมาทบทวนอีกรอบผลของการออกมาตรการ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews