วันนี้ (2 ก.ย.2564) เฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit ของ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือหมอหน่อง อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการโพสต์ถึงนโยบายวัคซีนไขว้ ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการบอกว่า คนที่ไม่เห็นด้วยนโยบายนี้คือคนโง่ แม้รัฐบาลมองว่า หากจะออกนโยบายใหญ่เร่งด่วน โดยมานั่งรอหลักฐานงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ย่อมช้า ไม่ทันกาล
ในจุดยืนของผมนั้น เชื่อว่า วัคซีนไขว้มีเหตุผล มีที่มาที่น่ารับฟังทางวิทยาศาสตร์ และผมก็สนับสนุนให้ประชาชนทุกคนได้รับวัคซีนโดยไม่รีรอ เพราะสถานการณ์มันวิกฤตเกินกว่าที่คิดไว้เป็นอย่างอื่น
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ แพทย์ นักวิชาการหลายคนกังวลคือ เราได้ตัดสินใจ เดิมพันครั้งใหญ่ ด้วยงบประมาณหลายพันล้านและชีวิตของผู้คน ตลอดจนโอกาส ในการเปิดเศรษฐกิจของประเทศ บนฐานข้อมูล ที่มาจากผู้เชี่ยวชาญเพียงไม่คน และเป็นข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ ดูระดับภูมิต้านทาน เป็น surrogate ของประสิทธิภาพวัคซีน
มันไม่ใช่การศึกษา randomized control trial เพื่อดูประสิทธิภาพของ วิธีฉีดไขว้แบบนี้ เทียบกับวิธีปกติ เป็นแบบ phase 3 clinical study ในประชากร ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติที่ ยา หรือวิธีการรักษาใหม่ (แม้จะเป็นยาเก่า) ทุกอันต้องผ่าน ก่อนนำมาใช้จริง
เรา เดิมพันว่ามันจะดี จากหลักฐานเท่าที่มี โดยเฝ้ารอดู “real world effectiveness” แทนข้อมูล phase 3 หากเราสำเร็จ เราจะสร้างแนวทางใหม่ ที่นานาชาติ ต้องหันมามองชื่นชม และอาจพิจารณาทำตาม
แต่หากเราล้มเหลว แพ้การเดิมพันครั้งนี้เราจะถูกทอดทิ้งอย่างโดดเดียวเพราะไม่มีใครคิดจะทำแบบเรา คนที่กังวลเรื่องนี้ ไม่น่าถูกประนามว่า เป็นคนโง่ นะครับ
รัฐควรอธิบายเหตุผลหลักที่แท้จริง ที่เราไม่สามารถดำเนินการตามแผนเดิมที่จะให้ Astra Zeneca ปกติ 2 เข็ม เป็นวัคซีนหลักได้นั้น ก็เพราะ โรงงานในไทย ที่เราหวังพึ่งพา ไม่อาจผลิตวัคซีนได้พอ ได้ทันตามเป้าหมาย
อีกทั้งสัญญาที่เราทำไว้กับบริษัท AZ นั้น เราไม่อาจไปเร่งรัด เอาความใดๆกับเขาได้ผมเองขอสงวนสิทธิ์ไม่ตอบโต้ ต่อว่า คนออกนโยบายนี้ว่า โง่ เพราะในสถานการณ์เร่งด่วนและทรัพยากรจำกัดแบบนี้ ผู้บริหารจำเป็นต้องหาทางออกที่คิดว่าดีที่สุด
แต่ผมอาจเรียกว่า ความประมาท ผมเชื่อว่า หากรัฐบาล อธิบายตามเหตุผลตรงๆ น่าจะเป็นสร้างความเชื่อมั่นที่แท้จริงให้กับประชาชนได้มากกว่าครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews