นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ได้มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 32) ผ่อนคลายการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท โดยจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนที่นั่งและที่ยืน รวมทั้งจัดให้มีการเว้นระยะห่าง และการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งต้องหยุดการให้บริการตั้งแต่เวลา 21.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน (จนถึงวันที่ 14 กันยายน 2564) เพื่อให้มีบริการขนส่งสาธารณะเพียงพอรองรับประชาชนในการเดินทางกลับที่พักหรือเคหะสถานภายในกำหนดเวลาดังกล่าว
วันนี้ (2 กันยายน 2564) ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) จึงพิจารณาขยายระยะเวลาให้ผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง ผู้ขับรถยนต์สาธารณะ และผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด บริการรับส่งประชาชนเดินทางกลับที่พักหรือเคหะสถานให้เพียงพอกับความต้องการใช้บริการของประชาชนให้สอดคล้องกับมาตรการห้ามออกนอกเคหะสถาน ทั้งนี้ผู้ให้บริการรถสาธารณะดังกล่าวสามารถให้บริการเดินรถได้ไม่เกินเวลา 22.00 นาฬิกา ส่วนในการเดินทางกลับที่พักหรือเคหะสถานของผู้ขับรถ ผู้เก็บค่าโดยสาร ผู้บริการ หรือพนักงานของผู้ให้บริการรถสาธารณะที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้บริการประชาชน ให้แสดงหลักฐานประจำตัว เช่น ใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร ใบอนุญาตเป็นผู้บริการ บัตรประจำตัวพนักงาน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกจึงกำชับผู้ประกอบการขนส่ง และผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวอย่างเคร่งครัด พร้อมกำชับให้พิจารณาจัดการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เพียงพอต่อความจำเป็น และตามเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางของประชาชน
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์ที่ยังมีการแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิด-19 ในขณะนี้การให้บริการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทยังต้องดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุข D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท อาทิ การตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารและผู้ขับรถ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง ในระหว่างการเดินทางต้องมีการระบายอากาศภายในรถโดยสารปรับอากาศ รถตู้โดยสารปรับอากาศ และเปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศภายในรถ และทำความสะอาดภายในตัวรถและพื้นผิวสัมผัสภายในรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ