เตือน 7 จว. พื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เตรียมรับการระบายน้ำเพิ่ม

07 กันยายน 2564

ชลประทาน 12 ทำหนังสือแจ้งเตือน 7 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำที่มีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท อย่างต่อเนื่อง

นายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 เผยว่า สถานการณ์น้ำของ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีน้ำใช้การรวมกันอยู่ที่ 2,081 ล้านลูกบาศก์เมตร หากเทียบจากปี 2563 ที่ผ่านมา มีน้ำใช้การรวมกันอยู่ที่ 3,145 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจากต้นฤดูฝนจนถึงปัจจุบัน มีปริมาณฝนสะสมที่ไหลอ่างเก็บน้ำ ทั้ง 4 เขื่อนหลัก ประมาณ 3,300 ล้านลูกบาศก์เมตร และเทียบจากปี 2563 มีปริมาณ 4,022 ลูกบาศก์เมตร จากนี้ไปยังคงอยู่ในช่วงฤดูฝน จึงต้องเฝ้าติดตามว่า ปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลัก เมื่อสิ้นฤดูฝนจะมีปริมาณเท่าไร
 

เขื่อน

สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา ปัจจุบันมีการระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 633 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และหากมวลน้ำที่สถานีวัดน้ำ C-2 จังหวัดนครสวรรค์ มีประมาณน้ำเพิ่มขึ้น ทางเขื่อนก็จะปรับการระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้นเป็น 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่ง สำนักงานชลประทานที่ 12 จะมีเกณฑ์ในการเฝ้าระวังการระบายน้ำด้านท้ายของเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดชัยนาทไปจนถึงอ่าวไทย

 

นายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12


 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สำนักงานชลประทานที่ 12 ออกหนังสือเตือนไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัด ใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกชุกหนาแน่น ทำให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ กรมชลประทาน มีการบริหารจัดการน้ำ โดยจะกักเก็บปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเข้าสู่อ่างเก็บน้ำให้มากที่สุด และให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะผันน้ำเข้าสู่คลองชลประทาน ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำนาปีได้

 

เขื่อน