จากกรณี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โควิด 19 วัคซีน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ หลังได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม
ยง ภู่วรวรรณ 13 กันยายน 2564
ในรูปนี้จะเห็นว่าคนที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายครบ 2 (Sinovac) เข็ม
เมื่อมีการติดเชื้ออาการลดลง ไวรัสจะกระตุ้นภูมิต้านทานเหมือนการให้วัคซีนอีก 1 ครั้ง ทำให้ระดับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นสูงมากๆ
เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน และติดเชื้อ ภูมิต้านทานจะห่างกันถึงกว่า 100 เท่า
ในผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วมีการติดเชื้อ การกระตุ้นภูมิต้านทานจะขึ้นเร็วมาก ภายหลังการติดเชื้อไม่กี่วันภูมิขึ้นสูงเป็นแบบ booster effect หรือที่เรียกว่า Anamnestic response จึงสามารถกำจัดไวรัสได้เร็ว อาการจึงน้อยลง ดีกว่าการได้ monoclonal antibodies ที่มีขาย ถึงแม้ว่าวัคซีนจะเป็นสายพันธุ์อู่ฮั่น การติดเชื้อไวรัสจะเป็นสายพันธุ์เดลต้า (คนไข้ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลต้า)
ระดับภูมิต้านทานที่สูงขึ้นนี้ บ่งบอกชัดเจนว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้น หรือฉีดวัคซีนเพิ่มอีก
ยกเว้นว่าคนที่ติดเชื้อแล้ว ยังไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ควรจะได้รับวัคซีน และวัคซีนที่จะกระตุ้นได้ดีจะต้องไม่ใช่เชื้อตาย วัคซีนเชื้อตายจะไม่ใช้เป็นตัวกระตุ้น สามารถฉีดได้ตั้งแต่ 1 เดือนหลังกลับบ้าน
การกระตุ้นจะต้องใช้ไวรัสเวกเตอร์หรือ mRNA เพียงเข็มเดียวก็เพียงพอ (เรามีการศึกษารองรับ)
เราได้มีโอกาสให้วัคซีนในการศึกษาวิจัยผู้ที่ติดเชื้อ และไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยการให้วัคซีนและดูการตอบสนองจำนวน 120 คน จะแสดงผลให้ดูในโอกาสต่อไปและรอเผยแพร่ในวารสารนานาชาติ
#หมอยง
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุว่า
วาทกรรม
"ฉีดxxxxสองเข็ม แล้วติดเชื้อ จะทำให้ภูมิสูงปรี๊ดโดยไม่ต้องกระตุ้น"
สิ่งที่มีในหัวหลังจากเห็นวาทกรรมนี้คือ
หนึ่ง ตกลงฉีดสองเข็มนั้นไปทำไม?
สอง หาตัวที่ฉีด 1-2 เข็มแล้วลดโอกาสติดเชื้อได้ ลดป่วยได้ ลดตายได้ จะดีกว่าไหม แล้วก็ค่อยฉีดกระตุ้นตามชนิดวัคซีนนั้นๆ ตามผลการศึกษาที่เป็นมาตรฐานสากลที่ประเมินทั้งระดับภูมิคุ้มกัน และประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ระยะเวลาที่ภูมิคงอยู่ได้ ผลในการลดความรุนแรง และลดเสียชีวิต
สาม ถ้าฉีดแล้วติดเชื้อ คนติดเชื้อคงไม่หวังอยากได้ผลภูมิสูงปรึ๊ดหรอก แต่คนติดเชื้อคงอยากรู้ว่าเค้าจะป่วยแค่ไหน จะตายหรือไม่ต่างหาก และหากเลือกได้เค้าคงไม่อยากติดเชื้ออย่างแน่นอน ทั้งห่วงตัวเองและห่วงคนรอบตัว
...มองความเป็นไปของโลก ด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews