จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยโรคปรสิต Parasitic Disease Research Center โพสต์ภาพที่ถูกส่งมาจากสมาชิกเพจรายหนึ่ง ถึงความสงสัยหลังจากได้ดูยูทูบช่องหนึ่ง กำลังแกะ "หัวกุ้ง" ออกมา ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีก้อนสีดำในภาพ จึงเกิดเป็นข้อสงสัยว่าจะยังสามารถนำมารับประทานต่อได้หรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศูนย์วิจัยโรคปรสิต มีคำตอบมาให้หายสงสัย
เพจเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความระบุว่า.. หัวกุ้งกินได้? มีเพื่อนสมาชิกเพจส่งมาถาม หลังจากดูช่องยูทูบนึง ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่าตรงนั้นมีอะไรบ้าง
- บริเวณหัวกุ้งจะมีอวัยวะที่สำคัญ โดยในกุ้งตัวผู้จะมีพวกอัณฑะถุงน้ำเชื้อและท่อน้ำเชื้อ กุ้งตัวเมียจะมีรังไข่ (บางคนเรียกไข่กุ้ง) ส่วนที่ใครหลายคนเรียกมันกุ้ง คือ ส่วนของตับและตับอ่อน อยู่ใต้อัณฑะตัวผู้หรือรังไข่ของตัวเมีย ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นสีเหลือง ใต้ตับลงไปคือกระเพาะอาหาร ลำไส้ (เส้นสีดำตรงสันหลังกุ้ง) หลายท่านอาจจะเรียกว่าขี้กุ้ง ซึ่งจะเป็นส่วนที่อยู่ในทั้งกระเพาะและลำไส้
- ส่วนคำถามที่ว่าหัวกุ้งกินได้หรือไม่ กินได้ ถ้าสุกแล้ว แล้วแต่คนชอบด้วย และขึ้นกับแหล่งกุ้งที่เลี้ยง หากเป็นกุ้งที่เลี้ยงถูกต้องตามหลักมาตรฐาน ก็ไม่น่าเป็นห่วง ปกติคนเรา ก็กินเครื่องในสัตว์ต่างๆ ที่เป็นอวัยวะเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ส่วนที่เป็นกระเพาะอาหารและลำไส้ คนก็มักจะดึงออก ไม่แค่กุ้ง อย่างปลา เราก็เอาเครื่องในบางส่วนออก รวมถึงกากอาหารที่เป็นส่วนที่เราเรียกว่าขี้นั้นก็เอาออก แต่หลายๆชนิดสัตว์ อาทิ เนื้อวัว คนก็กินนะ อย่างเพลี้ยอ่อนนำมาทำก้อยขม
- กุ้งเลี้ยง พบพยาธิน้อยถึงน้อยมาก แต่ถ้าเป็นกุ้งธรรมชาติอาจจะพบได้ โดยเฉพาะพวกพยาธิใบไม้ปอด แต่ทำสุกก็ปลอดภัยหายห่วง ส่วนกุ้งเลี้ยง หากท่านไม่สบายใจ กลัวว่ากุ้งจะกินนี่นั่นมาสะสมไว้ เวลาทำอาหารก็เอาส่วนกระเพาะอาหารและลำไส้ออกก่อนก็ได้ แต่ส่วนมันๆนั้นเชื่อว่าใครหลายคนคงชื่นชอบสุดๆ คงไม่เอาทิ้งไปแน่นอน