กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ เพจอนุรักษ์ป่าชื่อดังออกมาโพสต์ข้อความเชิญชวนให้สร้างฝาย หลังประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งในโพสต์ดังกล่าวระบุว่า ฤดูของป่า - สร้าง ฝาย มอบความชุ่มชื้นให้ผืนป่าอินทนนท์ ฤดูฝนมาเยือน ความชุ่มชื้นสำคัญสำหรับผืนป่า ซึ่งมีหลายๆ คนให้ความสนใจอย่างมาก
ทว่าทางเพจ วิทย์นอกห้อง ได้เปิดเผยความจริงอีกด้วยสำหรับการสร้างฝายฤดูฝน เนื่องจากทางเพจระบุว่ามีแต่สร้างผลเสียให้กับระบบนิเวศ ไม่ได้สร้างผลดีให้กับป่าแต่อย่างใด ด้วยการนำข้อเท็จจริงมาโต้แย้งว่า ป่าอยู่มา 385 ล้านปี ไม่เคยต้องการฝาย การมองว่าป่าบ้านเราต้องการน้ำเยอะๆ เป็น Pseudoscience (วิทยาศาสตร์เทียม) เพราะป่าบ้านเราวิวัฒนาการมาคู่กับฤดูแล้ง และในดินก็มีน้ำสะสมอยู่เพียงพอสำหรับการอยู่รอดในฤดูแล้ง
ทางเพจ วิทย์นอกห้อง ได้ระบุต่อไปว่า นอกจากการอ้างเรื่องเก็บน้ำ โพสต์ข้างต้นยังอ้างว่าฝายช่วยป้องกันการกัดเซาะตลิ่งและช่วยกักเก็บตะกอน ซึ่งไม่จริง ฝายจำนวนมากเก็บน้ำไว้จนตลิ่งด้านข้างฝายพัง แล้วฝายที่พังก็จะไหลลงมากับน้ำ ทำอันตรายต่อพื้นที่ด้านล่าง อีกทั้ง การบอกว่าฝายช่วยกักเก็บตะกอนก็เป็น Pseudoscience เพราะหน้าที่ของลำธารคือการถ่ายเทตะกอนจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ
ซึ่งในตะกอนมีแร่ธาตุ การสร้างฝายกักเก็บตะกอนไว้ที่ต้นน้ำ คือการขัดขวางกระบวนการถ่ายเทแร่ธาตุตามธรรมชาติ ทำให้พื้นที่ปลายน้ำขาดความอุดมสมบูรณ์ หากในลำธารมีสัตว์น้ำ สัตว์น้ำก็ข้ามฝายได้ลำบากอีก ไม่เพียงเท่านั้น หากไปไล่ดูโพสต์อื่นๆ ทางเพจนั้นยังอ้างว่ากิจกรรมต่างๆ ที่ทำ เป็นการสืบสานงานของคุณสืบ นาคะเสถียร ซึ่งคุณสืบไม่เคยสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้
นอกจากนี้ ทางเพจยังเคยให้ข้อมูลสรุปได้ง่ายๆ อีกว่า
1. ป่าธรรมชาติที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ ฝายมีแต่ผลเสียต่อระบบนิเวศ
2. ป่าธรรมชาติที่มีคนอยู่ ช่วงใกล้หน้าแล้งอาจสร้างฝายชั่วคราวจากไม้หรือหินได้ แต่ต้องรื้อออกเมื่อหมดหน้าแล้งเพื่อคืนสมดุลให้ระบบนิเวศลำธาร แต่ทางที่ดีที่สุดคือควรมีประปาภูเขา บ่อน้ำ หรือโอ่งน้ำแยกออกมาโดยไม่รบกวนลำธาร
3. ฝายชะลอน้ำที่มีรูให้น้ำไหลผ่านและฝายน้ำล้นที่ไม่มีรู มีผลทำให้ระดับน้ำยกตัวขึ้นเหมือนกัน และทำให้สัตว์ผ่านไปได้ยากเหมือนกัน
4. ฝายที่ทำจากวัสดุที่ไม่ใช่ธรรมชาติ สามารถทำให้เกิดสารพิษปนเปื้อนได้
5. ลำธารมีแบบที่มีน้ำไหลตลอดเวลา และแบบที่น้ำไหลตามฤดูกาล แตกต่างกันไปในแต่ละที่ ไม่มีอะไรดีกว่าอะไร ธรรมชาติสร้างมาเหมาะสมตามวิวัฒนาการ
6. ป่ามีหลายแบบ บางแบบต้นไม้หนาแน่น บางแบบต้นไม้ไม่หนาแน่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดชนิดและจำนวนต้นไม้ในป่า ป่าบางที่เขียวตลอด ป่าบางที่เขียวเป็นบางช่วงเวลา ไม่มีแบบไหนดีกว่ากัน ธรรมชาติสร้างมาเหมาะสมตามวิวัฒนาการเช่นกัน
7. ป่าที่ถูกทำลาย มีไฟป่า หรือกลายเป็นภูเขาหัวโล้น ไม่จำเป็นต้องเข้าไปปลูกต้นไม้ เพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ เราแค่รอเวลา เดี๋ยวป่าจะฟื้นฟูตัวเอง ใจร้อนไม่ได้ และต้องป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกซ้ำ
ข้อมูลจาก วิทย์นอกห้อง