ถือได้ว่าเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นอย่างมาก กับเรื่องที่ประเทศญี่ปุ่นบริจาครถไฟมือสอง ระยะเวลาการใช้งาน 40 ปี ให้กับประเทศไทยฟรี โดยต้องออกค่าขนส่งเองประมาณ 42 ล้านบาท
โดยล่าสุด นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) ได้ออกมาเปิดใจ ถึงความคุ้มค่าหรือไม่ที่ไทยจะได้รับจากการได้มาของ "รถไฟญี่ปุ่นมือสอง" หรือ "รถไฟฮอกไกโด" นี้
โดยขณะนี้ได้มาแล้ว 10 คัน เป็นของเจอาร์ฮอกไกโด จอดอยู่ที่ศรีราชา ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าขนาดทางของรถไฟญี่ปุ่นกับบ้านเรานั้นมันต่างกัน ของไทยนั้นทางกว้าง 1 เมตร ขนาดทางรถไฟ แล้วแต่ประเทศไหนจะใช้กัน แต่ว่าถ้าเป็นมาตรฐานคือ 1.435 เมตร ญี่ปุ่น 1.35 เมตร ก็มี "ส่วนที่จะรับมาคือ 1 .06 เมตร ขนาดความกว้างเท่าไหร่ไม่ใช่ประเด็น ปัญหาคือเราจะนำมาติดรถไฟ ได้หรือเปล่า ถ้าติดได้ จะใช้ทางเท่าไรก็ได้ เพราะเราสร้างทางเองได้ไม่ใช่ปัญหา แต่ของเรามันใช้ขนาด 1 เมตรมาโดยตลอด"
เพราะฉะนั้นเมื่อเอารถมาแล้วล้อกว้างกว่าเรา เราก็ต้องย่อความยาวของล้อรถลงมาเพื่อให้วิ่งกับทางเราได้ซึ่งมันก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในแง่ของการดัดแปลงให้ล้อวิ่งบนรางของเราได้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงดัดแปลง รวมทั้งเรื่องของโรงอะไหล่ เมื่อเอามาวิ่งอะไหล่ไม่ได้ขายตามท้องตลาด มันก็ต้องมีข้อผูกพันที่จะต้องซื้ออะไหล่จากญี่ปุ่นอีก "บางคันเอามาแล้วอาจจะใช้ไม่ได้ก็อาจมาใช้เป็นอะไหล่ไปต่อคันอื่น ผมมองว่าได้มาฟรีก็จริงแต่ว่ามันจะไม่คุ้มค่าที่สำคัญคือรถใช้มา 30-40 ปีแล้ว "
นอกจากนี้ทางนายสาวิทย์ ยังเสนอแนวคิดว่าควรนำรถไฟเก่าของไทยมาโมดิฟายด์ดีกว่า เพราะไม่ต้องย่อล้อ หรือเสียค่าขนส่งโดยใช้เหตุในสภาวะเศรษฐกิจไทยที่น่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ โดยนายสาวิทย์ ยังแนะอีกว่า เราน่าจะมองไปข้างหน้ามากกว่า รถที่ไร้มลภาวะ รถไฟฟ้า น่าจะไปพัฒนาตรงนั้นมากกว่า หรือไม่ก็ออกแบบคิดสร้างรถขึ้นมาเอง คิดว่าระบบรางในอนาคตข้างหน้าจะเป็นระบบหลักในการขนส่งของประเทศ" ประธานสหภาพแรงงานรถไฟฯ กล่าว
ขอบคุณข้อมูลบางส่วน คมชัดลึก
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews