เรียกได้ว่าประเด็นร้อนกันเลยทีเดียวเกี่ยวกับบริษัทประกันภัย เลิกจ้างพนักงาน ซึ่ง คปภ.ได้เร่งเข้าตรวจสอบและควบคุมเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน โดยบริษัทประกันวินาศภัยที่ตกเป็นข่าวก็คือ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ซึ่งล่าสุดทางบริษัทได้ออกมาชี้เเจงประเด็นข่าวดังกล่าวเเล้ว
เมื่อผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังบริษัท โดยนายจุลพยัพ ศรีกาญจนา ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้เลิกจ้างพนักงานของบริษัทเป็นความจริง ซึ่งเป็นนโยบายที่บริษัทดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการลดไซด์ธุรกิจ ควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม
อ่านข่าวอื่นเพิ่มเติม :
- คปภ. เร่งติดตาม หลังมีข่าว บริษัทประกันภัยดัง สั่งเลิกจ้างพนักงาน
- ลูกค้าประกันโควิด รวมตัวปิดหน้าบริษัทประกันภัยดัง เคลมเเล้วไม่ได้รับเงิน
"ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการปิดสาขาทั้งหมดและลดขนาดพื้นที่สำนักงานใหญ่ ในส่วน แนวทางการลดพนักงงาน เป็นตามโครงการเลิกจ้างโดยสมัครใจ เดิมบริษัทมีพนักงานเกือบ 500 คน แต่ปัจจุบันบริษัทยังคงพนักงานไว้ในจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและดูแลให้บริการลูกค้าทั้งจ่ายสินไหมและสำรวจภัย ซึ่งบริษัทได้ชี้แจงไปยัง คปภ.แล้วเมื่อวานนี้และช่วงเช้าวันนี้"
นายจุลพยัพ กล่าวว่า บริษัทไม่ได้มีปัญหากรณีเลิกกิจการแต่อย่างใด โดยบริษัทยังมีแนวทางในการดูแลลูกค้ากรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภทอย่างเป็นธรรม ไม่ได้มีปัญหาและไม่ประวิงจ่ายสินไหม โดยเฉพาะประกันภัยโควิด-19ที่มีการเคลมเข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงโควิดระบาดรุนแรงและยืดเยื้อในช่วงที่ผ่านมา
โดยบริษัทยังเร่งการจ่ายสินไหมประกันโควิด-19 ตามแนวทางของคปภ. ภายใน 15 วัน ปัจจุบันได้ดำเนินการจ่ายเคลมสินไหมดังกล่าวไปแล้วกว่า 500-600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของยอดทั้งหมด และบริษัทยังมีเงินกองทุนเพียงพอ ณ สิงหาคม 2564 ที่ระดับ 140 % ยังสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีการบริหารสภาพคล่องที่เพียงพอต่อการบริหารจัดการและดำเนินการจ่ายสินไหมได้แน่นอน และขณะนี้ส่วนตัวยังไม่พบสัญญาณความเปิดปกติของลูกค้า เช่น การขอยกเลิกกรมธรรม์เพราะสาเหตุกระแสข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า บริษัทได้ส่งทีมตรวจสอบเข้าไปตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยบูรณาการร่วมกับสายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบการเลิกประกอบกิจการของบริษัท และยังไม่พบพฤติการณ์การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินแต่อย่างใด ซึ่งมีกลไกทางกฎหมายในการป้องกันและควบคุมในส่วนนี้อยู่ อีกทั้งก็ยังไม่พบว่ามีบริษัทประกันภัยอื่นมีปัญหาในลักษณะดังกล่าว
โดยก่อนหน้านี้ทาง ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่งได้แจ้งการเลิกจ้างพนักงานของบริษัทฯ โดยสำนักงาน คปภ. ได้ติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เบื้องต้นได้รับรายงานจากบริษัทแห่งนี้ว่า กรณีดังกล่าวบริษัทฯ ได้ดำเนินการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ให้สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยตามภาระผูกพันได้ และยังคงพนักงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักถึงความกังวลของประชาชนจากกรณีข่าวของบริษัทแห่งนี้ และเพื่อกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย พร้อมทั้งดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย ได้ดำเนินการและออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ดังนี้
1. ส่งทีมตรวจสอบเข้าไปตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยบูรณาการร่วมกับสายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังไม่พบการเลิกประกอบกิจการของบริษัท และยังไม่พบพฤติการณ์การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินแต่อย่างใด ซึ่งมีกลไกทางกฎหมายในการป้องกันและควบคุมในส่วนนี้อยู่ อีกทั้ง ก็ยังไม่พบว่ามีบริษัทประกันภัยอื่นมีปัญหาในลักษณะดังกล่าว
ทั้งนี้ การเลิกประกอบกิจการ ต้องมีขั้นตอนการดำเนินการ โดยต้องยื่นขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการยื่นเข้ามาแต่อย่างใด
2. จะเชิญคณะกรรมการและผู้บริหารบริษัทฯ เพื่อทราบเจตจำนงและชี้แจงในกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม พร้อมทั้ง ให้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย
3. ได้กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นไว้อย่างเป็นระบบและขั้นตอน โดยจะเริ่มจากมาตรการเบาไปหาหนัก ทั้งนี้ หากพบว่าบริษัทฯ มีพฤติการณ์ที่เป็นเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน จะเร่งใช้มาตรการทางกฎหมายโดยเคร่งครัดอย่างรวดเร็ว เพื่อมิให้ปัญหาลุกลามบานปลาย
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ต้องมีสภาพคล่องเพียงพอเพื่อเร่งจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ให้เป็นไปตามคำสั่งสำนักงาน คปภ. เรื่อง ให้แก้ไขเพิ่มเติมคู่มือ ระบบงาน และกระบวนการดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 ซึ่งบริษัทฯ สามารถเข้าร่วมมาตรการผ่อนปรน ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยได้เห็นชอบมาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
“สำนักงาน คปภ. จะติดตามการดำเนินการของบริษัทฯ และบริษัทประกันภัยอื่น ๆ อย่างใกล้ชิดและทันที หากมีกรณีที่จะกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชน จะดำเนินการทุกมาตรการที่เกี่ยวข้องควบคู่กับมาตรการทางกฎหมาย เพื่อปกป้องอย่างเต็มความสามารถไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน พร้อมทั้งได้แจ้งเตือนไปยังบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยโควิด-19 ให้ดำเนินการต่าง ๆ อย่างรอบคอบและระมัดระวัง
โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของประชาชน และคำถึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ดังกล่าว สำหรับบริษัทที่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง สำนักงาน คปภ. ได้ออกมาตรการผ่อนปรนรองรับไว้แล้ว เพื่อดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถในทุกมิติ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186
ขอบคุณ
กรุงเทพธุรกิจ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews