กรมชลประทาน ชี้แจงแล้ว หลังมีข่าวน้ำจะท่วม กรุงเทพฯ-นนทบุรี

22 กันยายน 2564

กรมชลประทาน ชี้แจงหลังมีข่าวลือน้ำจะท่วมนนทบุรี และมาถึงกรุงเทพฯ อีก 1 สัปดาห์ เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาเปิดประตูระบายน้ำทุกบาน

นายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำ และอุทกวิทยา กรมชลประทาน ชี้แจงว่า กรณีมีการโพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลว่า "เขื่อนเจ้าพระยาเปิดประตูระบายน้ำทุกบานแล้ว อีก 1 สัปดาห์จะถึงเมืองนนท์ คาด กทม.ไม่น่ารอด เตรียมป้องกันล่วงหน้าด้วย"  ข้อความดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ปัจจุบัน (21 ก.ย. 64 เวลา 12.00 น.) กรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านลงสู่พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 1,524 ลบ.ม./วินาที จะไม่ส่งผลกระทบต่อจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ อ.เสนา อ.บางบาล อ.ผักไห่ และ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีตลิ่งต่ำ และอยู่นอกเขตคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่า ในวันพรุ่งนี้ (22 ก.ย. 64) เวลาประมาณ 06.00 น. ระดับน้ำจะสูงขึ้นเพียง 0.25 เมตร จากระดับน้ำปัจจุบัน

กรมชลประทาน ชี้แจงแล้ว หลังมีข่าวน้ำจะท่วม กรุงเทพฯ-นนทบุรี

 

- สาวแชร์ประสบการณ์จองห้องพักไปเที่ยวกับเพื่อนๆ เจอน้ำท่วมห้องจนคอมพัง!!
- ธอส. ประกาศ 7 มาตรการช่วยลูกค้าน้ำท่วมบ้าน พักหนี้-ลดดอก
- นายกฯบินด่วนดูน้ำท่วมชัยนาท นั่งรถตู้สีขาวถึงพื้นที่แล้ว

ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ จะได้รับผลกระทบก็ต่อเมื่อ มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในอัตรา 2,500 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบัน สถานีบางไทรมีปริมาณน้ำไหลผ่านเพียง 1,547 ลบ.ม./วินาที เท่านั้น ในขณะที่ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา ณ วันที่ 21 กันยายน 2564 เวลา 12.00 น. มีเพียง 1,524 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับปริมาณน้ำทางตอนบนบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ เวลา 12.00 น. มีน้ำไหลผ่านเพียง 1,956 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

กรมชลประทาน ชี้แจงแล้ว หลังมีข่าวน้ำจะท่วม กรุงเทพฯ-นนทบุรี

สำหรับกรุงเทพมหานคร จะเริ่มได้รับผลกระทบ เมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านที่สถานี C.29A อำเภอบางไทร ในอัตรา 3,500 ลบ.ม./วินาที ขึ้นไป ในส่วนของกรณีที่มีการเปิดบานระบายทุกช่องของเขื่อนเจ้าพระยานั้น เป็นไปตามหลักการด้านชลศาสตร์ในการระบายน้ำ เพื่อป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ด้านท้ายของอาคารเขื่อนเจ้าพระยา เป็นการรักษาเสถียรภาพ และความมั่นคงของเขื่อน ซึ่งกรมชลประทานขอยืนยันว่า ปริมาณน้ำระบายลงสู่พื้นที่ด้านล่างอยู่ในเกณฑ์ 1,524 ลบ.ม./วินาที เท่านั้น จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่น ในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน และความมั่นคงของเขื่อนเจ้าพระยา

กรมชลประทาน ชี้แจงแล้ว หลังมีข่าวน้ำจะท่วม กรุงเทพฯ-นนทบุรี

นายธีระพล ย้ำว่า กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำฝน น้ำท่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากกรมชลประทานตลอด 24 ชั่วโมง หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

 

ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews