วันนี้ (01 ต.ค.2564) ประกาศราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง "ห้ามการชุมนุม" การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ฉบับที่ ๑๑)
สืบเนื่องมาจากผลการบูรณาการและประสานความร่วมมือของทุกฝ่าย รวมทั้งความร่วมมือ ของภาคประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล รวมทั้งมาตรการอื่น ๆ ที่กำหนด ทำให้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มของสถานการณ์คลี่คลาย ไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ การฟื้นฟูและพัฒนาประเทศในระยะยาว ควบคู่กับ การป้องกันและควบคุมโรคอย่างสมดุลและยั่งยืน
รัฐบาลจึงได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๔) ลงวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ซึ่งมีมาตรการผ่อนคลายความเข้มงวดบางกรณีให้มีความเหมาะสม
โดยกำหนดมาตรการควบคุมเท่าที่จำเป็นตามระดับพื้นที่ของสถานการณ์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังจำเป็นต้องติดตามกำกับดูแลทั้งบุคคล สถานที่ การดำเนินกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในระยะยาว อาศัยอำนาจ ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๕) ข้อ ๓ และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๔/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓ เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ ๓ (๖) และข้อกำหนด คำสั่ง ประกาศ ที่เกี่ยวข้อง จึงให้ปฏิบัติดังนี้
๑. ให้ยกเลิกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับ ความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน า 2019 (โควิด - 19 ) (ฉบับที่ ๙) ลงวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด - 19 ) (ฉบับที่ ๑๐) ลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
๒. ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาส ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใด ๆ ทั่วราชอาณาจักร
๓. ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวัง เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้น โดยให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๓๐) ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ข้อกำหนด (ฉบับที่ ๓๒) ลงวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ และข้อกำหนด (ฉบับที่ ๓๔) ลงวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔
ทั้งนี้ ในเรื่องมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๓๒) ลงวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ และข้อกำหนด (ฉบับที่ ๓๔) ลงวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่มีการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับใหม่ ให้ประกาศฉบับนี้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้ง กับข้อกำหนดฉบับใหม่ดังกล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔
พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews