กลับมาอีกครั้งกับเทศกาลถือศีลกินเจ ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน ซึ่งตรงกับเดือนตุลาคมของไทย ตามปฏิทินสากล รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 9 วัน 9 คืน เริ่มตั้งแต่ 6 - 14 ตุลาคม 2564
เคยสงสัยมั้ยว่า เทศกาล "กินเจ" ในบ้านเราที่จัดยิ่งใหญ่อลังการทุกปี ทำไมไม่เคยเห็นแบบนี้ในเมืองจีนเลยสักครั้ง! ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน ต่างก็ไม่มี เทศกาลถือศีลกินผัก หรือการประดับประดาธงเจสีเหลืองใดๆ ทั้งสิ้น
ย้อนกลับไปเมื่อ 194 ปีก่อน (ประมาณ พ.ศ. 2368-2400) เป็นจุดเริ่มต้นที่คนไทยรู้จักกับการกินเจเป็นครั้งแรก! สมัยนั้นคนจีนจากมณฑลฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) แต้จิ๋ว และซัวเถา ได้เดินทางเข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินในเมืองไทย บริเวณพื้นที่หมู่บ้านกะทู้ ตำบลกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่รอบๆ กะทู้อุดมสมบรูณ์ไปด้วยแร่ดีบุก จึงทำให้คนจีนอพยพเข้ามาขุดแร่ดีบุกและทำเหมืองแร่กันตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) มีการค้าขายแร่ดีบุกกับโปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น
คนจีนกลุ่มนี้เองที่นำเอาประเพณีกินเจ กินผัก หรือ เจี๊ยะฉ่าย เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาเต๋า (ลัทธิเต๋า) ที่พวกเขานับถือ โดยพวกเขามีความเชื่อและศรัทธาในเรื่องเทพเจ้าประจำตระกูล หรือเทพเจ้าประจำหมู่บ้าน เช่น เทพเจ้า เทวดาฟ้าดิน และเซียนต่างๆ
หากมีเหตุเภทภัยอันใดเกิดขึ้น ก็จะแก้เคล็ดด้วยการอัญเชิญเทพเจ้าแต่ละพระองค์ที่ตนนับถือ มาบูชากราบไหว้เพื่อให้คุ้มครองปกป้องรักษาตน พร้อมกับการ "ถือศีลกินผัก" งดบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด งดทำบาปเพื่อหวังให้เภทภัยต่างๆ หายไป โดยมักจะกินเจ 9 วัน เพราะถือว่าเป็นการบูชา 9 เทวกษัตริย์ ที่เชื่อว่าจะมารับเคราะห์หรือเภทภัยต่างๆ แทนมนุษย์
เมื่อสืบสาวราวเรื่องลึกลงไป พบว่าประเพณีกินผักดังกล่าว จริงๆ แล้วก็มีต้นกำเนิดมาจากจีนนั่นแหละ เพียงแต่มีเฉพาะในชุมชนจีนบางมณฑลเท่านั้น เป็นประเพณีที่ชาวจีนกลุ่มเล็กๆ ทำกัน ไม่ได้มีแพร่หลายไปทั่วทั้งประเทศจีน เมื่อคนจีนกลุ่มนี้อพยพมาที่ไทยก็นำประเพณีนี้ติดตัวมาด้วย
ปัจจุบันประเพณี "ถือศีลกินผัก" ของชาวจีนที่นับถือ "ลัทธิเต๋า" ในประเทศจีนบางมณฑลดังกล่าว ได้สูญหายไปแล้วทั้งหมด แต่กลับยังคงมีให้เห็นได้ที่ภูเก็ตบ้านเรา และกระจายไปทั่วประเทศไทย สมัยแรกๆ มีแค่การถือศีลกินผักธรรมดาตามโรงเจ ไม่ได้มีขบวนแห่ม้าทรงหรือจัดงานเทศกาลยิ่งใหญ่เหมือนในปัจจุบัน
เหตุการณ์ที่สะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีกินผักที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ มีตำนานเล่าว่าครั้งหนึ่งมีคณะงิ้วจากประเทศจีน ได้เดินทางมาเปิดการแสดงที่หมู่บ้านกะทู้ของภูเก็ต คณะงิ้วนี้สามารถแสดงอยู่ได้ตลอดปี เนื่องจากเศรษฐกิจของกะทู้ในยุคนั้นมีรายได้ดีมาก หลังจากคณะงิ้วได้เปิดทำการแสดงอยู่ระยะหนึ่ง ได้เกิดมีการเจ็บป่วยเป็นไข้ และจากการเจ็บป่วยครั้งนี้ทำให้คณะงิ้วนึกขึ้นได้ว่าพวกตนไม่ได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) ซึ่งเคยปฏิบัติกันมาทุกปีที่เมืองจีน จึงได้ปรึกษาหารือในหมู่คณะ และได้ตกลงกันประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายขึ้นที่โรงงิ้วนั่นเอง ต่อมาโรคภัยไข้เจ็บก็หายไปหมดสิ้น
เรื่องนี้สร้างความประหลาดใจให้แก่ชุมชนที่อาศัยกะทู้เป็นอันมาก จึงได้สอบถามจากคณะงิ้วและได้คำตอบว่าพวกเขาได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายแบบย่อๆ เนื่องจากไม่มีผู้รู้และผู้ชำนาญในการจัดประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายแบบครบถ้วน พวกเขาเพียงแต่สักการะบูชากราบไหว้ขอขมาโทษ ระลึกถึงกิ้วอ๋องต่ายเต่หรือพระราชาธิราชทั้ง 9 พระองค์ตามความเชื่อของลัทธิเต๋านั่นเอง ทั้งนี้ทางกลุ่มคณะงิ้วก็ได้แนะนำและส่งต่อวิธีการไหว้เจ้าและการถือศีลกินผักให้ชาวกะทู้ด้วย
หลังจากชาวจีนและชาวบ้านกะทู้ได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายได้ประมาณ 2-3 ปี โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ลดน้อยลงและหายไปในที่สุด ทำให้พวกเขามีความเชื่อและศรัทธาเลื่อมใสในการถือศีลกินผักมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณที่มา : phuketvegetarian.com
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews