เพจเฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand รายงานว่า ข่าวบิดเบือน ไทยเตรียมรับมือ พายุ 3 ลูก ถล่มหนัก ทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ
ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์เรื่อง ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ เตือนคนไทยเตรียมรับมือ พายุ 3 ลูก และเฝ้าระวังน้ำท่วม ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
กรณีที่มีการโพสต์ข่าวสารระบุว่า ด่วน! ได้รับผลกระทบหลายพื้นที่ ไทยเตรียมรับมือ พายุอีก 3 ลูก นั้น กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบและชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา มิได้แจ้งเตือนตามที่มีการแชร์และส่งต่อกันในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด
จากการติดตามพายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” บริเวณอ่าวตังเกี๋ย มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 150 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเมือง ฮานอย ประเทศเวียดนาม พายุนี้เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่ง บริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในคืนวันที่ 10 ต.ค. 2564 และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับต่อไป ลักษณะเช่นนี้ จะทำให้ภาคเหนือ ด้านตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเมฆฝนเพิ่มขึ้น เป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลางส่วนมากทางตอนบนของภาค ส่วนฝนที่ตกหนักบางแห่งทางภาคใต้ จะมาจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ส่วนพายุโซนร้อน "คมปาซุ" ยังอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก ค่อนไปทางเหนือ ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบกับ สภาพอากาศของประเทศไทย พายุนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงทิศทาง ซึ่งเมื่อพายุเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่รับผิดชอบ กรมอุตุนิยมวิทยาจะมีประกาศเตือนภัยเป็นระยะๆ ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจาก กรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าวเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://www.tmd.go.th Facebook: กรมอุตุนิยมวิทยา, Application: Thai weather หรือติดต่อสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ประเทศไทย โดยพายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” ทำให้ภาคเหนือ ด้านตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกเพิ่มเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้ฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ และพายุโซนร้อน "คมปาซุ" ยังไม่มีผลกระทบกับสภาพอากาศของประเทศไทย
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ที่มา Anti-Fake News Center Thailand
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews