จากกรณีดราม่าที่ คุณครูของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ได้ถ่ายคลิปลง TikTok เปิดกรุรื้อสมบัติฝ่ายกิจการโรงเรียน พบว่ามีโทรศัพท์มือถือของเด็กนักเรียน ซึ่งถูกยึดมาตั้งแต่สมัยปี 2555 หรือประมาณ 9 ปีที่แล้ว จำนวนหลายเครื่องซึ่งมีอยู่หลากหลายยี่ห้อ ทั้งรุ่นฮิตในอดีตอย่างรุ่น 3310 และโทรศัพท์มือถือรุ่นทัชสกรีนซึ่งถ้ามีในสมัยก่อนต้องเรียกได้ว่าราคาแพงอย่างแน่นอน ซึ่งคุณครูสาวรายดังกล่าวได้มีการเรียกชื่อนักเรียนเจ้าของโทรศัพท์ให้มารับคืนกันอย่างสนุกสนาน ทำให้ชาวเน็ตเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก ต่างบอกว่าโทรศัพท์มือถือหลายๆรุ่นในสมัยนั้นมีราคาแพง เหตุใดเมื่อคุณครูที่ยึดไปแล้ว หลังจากที่นักเรียนเรียนจบทำไมถึงไม่ยอมส่งคืนนักเรียน
ล่าสุด วันที่ 14 ต.ค. 64 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลเเขวง ได้โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นด้านข้อกฎหมายถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ครูยึดโทรศัพท์มือถือของนักเรียน มีคลิปในติ๊กตอก บางโรงเรียนเคยมีกฎห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าโรงเรียน โรงเรียนประกาศว่าถ้าพบเห็นจะยึดและให้มารับคืนตอนปิดเทอม ซึ่งยาวนานได้ถึงสามเดือนเรื่องนี้ครูโรงเรียนใหญ่มากๆ ในกรุงเทพฯเคยโทรมาปรึกษาเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว โรงเรียนยึดโทรศัพท์มือถือจากนักเรียนเพราะมีระเบียบห้ามนักเรียนเอาโทรศัพท์เข้าโรงเรียน ซึ่งเข้าใจได้ว่าในยุค 10 ปีที่แล้วโทรศัพท์ไม่สามารถเล่นโซเชียลได้เหมือนวันนี้ด้วยซ้ำ และย้อนไปนะครับโรงเรียนใหญ่ โรงเรียนดัง มากเท่าไหร่รถยิ่งติดมากเท่านั้น เวลาผู้ปกครองไปรับบุตรหลาน มักไม่มีที่จอดรถใช้วิธีวนรถไปรับหน้าโรงเรียน หลายคนจึงเอาโทรศัพท์มือถือมอบให้บุตรหลานเพื่อโทรนัดแนะให้ออกมาที่หน้าโรงเรียนโดยไม่ต้องมายืนรออย่างไม่รู้ว่ารถจะมาถึงตอนไหน จราจรในกรุงเทพใครก็รู้ว่ารถติดอาจมาช้าได้เป็นชั่วโมง โดยเฉพาะเวลาโรงเรียนเลิกหรืองานเลิก พ่อแม่ที่รักลูก ก็จะเป็นห่วงความปลอดภัยของลูกถ้าต้องออกมารอนอกโรงเรียน ก็มักจะบอกว่า เอาโทรศัพท์ให้ลูกเพื่อจะได้โทรให้มาขึ้นรถโดยลูกไม่ต้องมาอยู่นอกโรงเรียนหรือรอที่หน้าโรงเรียนเป็นห่วงลูกให้ลูกรอ ผู้ปกครองมารับให้อยู่แต่ในโรงเรียน ครูพบเห็นโทรศัพท์ก็ยึดตามระเบียบโรงเรียน
แต่ปัญหาคือระเบียบของโรงเรียน แม้ผู้ปกครองจะเคยตกลงด้วย..แต่ระเบียบไม่ได้ใหญ่กว่ากฎหมายอาญา โดยเฉพาะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจครูในการไปยึดทรัพย์ของเด็ก แล้วไม่คืนให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กนักเรียนยังทำมาหากินไม่ได้เงินที่ ซื้อโทรศัพท์มาเป็นของผู้ปกครองแน่ๆจึงเคยแนะนำครูไปว่าระวังนะครับผู้ปกครองเด็กอาจจะไปแจ้งความว่า ยักยอกทรัพย์ของเด็ก หรือของผู้ปกครองจะมีผลไปถึงการกล่าวหาครูเป็นคดีอาญาได้ ไม่ว่าจะเป็นลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์แล้วแต่พฤติการณ์
ผมจึงแนะนำว่าถ้าผู้ปกครองมาทวงคืนก็ควรคืนให้ผู้ปกครองไป อาจจะยึดไว้ยาวนานจนปิดเทอม อาจมีปัญหาใหญ่ตามมา บางโรงเรียนก็มีทางออกคือพอเด็กมาโรงเรียนแล้วให้ทุกคนเอาโทรศัพท์มือถือมาใส่ไว้ในตะกร้าหน้าห้องเรียน เลิกเรียนแล้วจึงค่อยมาเอาโทรศัพท์คืนไปเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กโทรศัพท์ในระหว่างเรียน
ปัญหาคือ กฎหมายใหญ่กว่าระเบียบของโรงเรียน ระเบียบของบริษัท ไม่ได้ใหญ่กว่ากฎหมาย เพราะระเบียบของโรงเรียนหรือระเบียบของบริษัทคงใช้ได้เฉพาะในบริษัท ในโรงเรียน เท่านั้น แต่กฎหมายเป็นระเบียบของสังคมโดยรวมเป็นกติกาของสังคม โดยรวมซึ่งมีโทษทางอาญาด้วยคุณอ้างทำตามระเบียบถ้าผิดกฎหมาย ถูกแจ้งความดำเนินคดี ระเบียบช่วยคุณไม่ได้ อาจติดคุกเพราะระเบียบของคุณเอง มันขัดกฏหมายมาเยอะแล้ว ผมไปติดต่องานหลายที่ชอบอ้างระเบียบ ที่มันฝ่าฝืนกฎหมายเพราะเอามาใช้กับคนภายนอกไม่ได้นะครับระวังจะถูกแจ้งความดำเนินคดี
ต่อไปไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หรือบริษัทห้างร้าน ระเบียบมีไว้ใช้กับคนในโรงเรียนหรือในบริษัท แต่คงใช้กับคนภายนอกกับสังคมโดยรวมไม่ได้นะครับ สังคมโดยรวมต้องใช้กฎหมายเท่านั้น
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขอบคุณ FB : โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง