วันนี้ (19 ต.ค.2564) พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ข้อสรุปกับทางธนาคารว่า "ธนาคารทั้งประเทศ" จะรับเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าวเอง โดยที่ประชาชนไม่ต้องไปแจ้งความกับสถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ ส่วนเงินสูญหายออกจากบัญชีหรือบัตรเครดิต เดบิต ทางธนาคารเจ้าของบัญชีจะชดใช้เงินคืนให้กับลูกค้าเองภายใน 5 วันทำการ
พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กล่าวว่า จะมีการตั้งผู้ประสานงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการสืบสวนสอบสวน และการนำเงินมาคืนให้กับผู้เสียหายหรือทางธนาคาร ตัดขั้นตอนและระยะเวลาในการทำเรื่องของแต่ละฝ่ายลง เพื่อให้สามารถติดตามจับกุมคนร้ายและอายัดบัญชีได้เร็วขึ้น ซึ่งข้อมูลจากสมาคมธนาคารไทย พบว่า ขณะนี้มีบัตรเครดิตที่ถูกล้วงข้อมูลไปแล้ว 5,700 ใบ เดบิต 4,800 ใบ รวมมูลค่าความเสียหาย 100 กว่าล้านบาท
ด้านตัวแทนสมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงินต่าง ๆ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุก"ธนาคารทั้งประเทศ"ทราบข้อมูลหมดแล้วว่า มีลูกค้าหรือบัญชีที่ถูกก่อเหตุกี่ราย โดยแต่ละธนาคารจะมีระบบในการตรวจสอบความเคลื่อนไหวและการใช้จ่ายจากบัญชี และบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตต่าง ๆ ว่า เข้าข่ายลักษณะรูปแบบที่ธนาคารจับตามองอยู่ ถูกโอนเงินไปยังบัญชีหรือผู้ให้บริการรายเดียวกับที่ธนาคารจับตามอง
ทั้งนี้ หากลูกค้ารายใดที่พบว่า บัญชีธนาคารหรือมีการใช้จ่ายในบัตรเครดิต บัตรเดบิต ผิดปกติ แต่ไม่ได้รับการติดต่อคืนเงินจากธนาคาร สามารถแจ้งไปยังธนาคารเจ้าของบัญชีได้ทันที เพื่อให้ทางธนาคารตรวจสอบ หากพบว่า เป็นความผิดพลาดจากกรณีดังกล่าว ธนาคารจะรีบคืนเงินให้ใน 5 วันเหมือนกับลูกค้าในกลุ่มแรก โดยไม่ต้องเข้าแจ้งความกับทางตำรวจ
จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มคนร้ายอาศัยช่องว่างในการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของธนาคาร ในการขโมยข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า และข้อมูลบัตรเครดิต-เดบิตไปใช้จ่าย หรือโยกย้ายเงินไปยังบัญชีอื่น ๆ ซึ่งกรณีดังกล่าวยืนยันว่า กลุ่มคนร้ายไม่สามารถเจาะระบบของธนาคารต่างๆ ได้ แต่คนร้ายใช้วิธีการล้วงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าหรือข้อมูลบนบัตรเครดิต เดบิต โดยใช้ 5 รูปแบบ อาทิ การขโมยเลขที่บัตร วันหมดอายุของบัตร และเลขความปลอดภัย 3 หลักที่อยู่ด้านหลังบัตร โดยรูปแบบของกลุ่มคนร้ายมีความแตกต่างกันออกไป
สิ่งสำคัญหลังจากนี้ ทาง "ธนาคารทั้งประเทศ" จะร่วมกันหาวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก โดยไม่ให้กระทบต่อความสะดวกของผู้ใช้บริการ
โดย ตัวแทนจากสำนักงาน ปปง.เปิดเผยว่า จากนี้จะนำข้อมูลจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ถูกก่อเหตุมาตรวจสอบว่า ปลายทางของเงินจำนวนดังกล่าวตกไปอยู่ในบัญชีหรือผู้ให้บริการรายใดบ้าง ไม่ว่าจะอยู่ภายในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ก็จะดำเนินการอายัดหรือนำเงินกลับมาคืนให้กับทางธนาคาร ซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียหายให้ได้มากที่สุด แม้ว่าเงินดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังต่างประเทศ ซึ่งทางสำนักงานปปง. มีเครือข่ายหน่วยงานในต่างประเทศ ที่สามารถติดต่อประสานงานนำเงินมาคืนให้ได้