โดยการผ่าตัดครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่อาจช่วยขจัดปัญหาการขาดแคลนอวัยวะสำหรับการปลูกถ่าย โดยทีมแพทย์จากศูนย์การแพทย์ NYU Langone Health ในมหานครนิวยอร์ก ใช้ไตหมูที่ผ่านการดัดแปลงยีนไม่ให้เนื้อเยื่อของมันมีโมเลกุลที่จะทำให้เกิดภาวะปฏิเสธอวัยวะเฉียบพลัน ส่วนผู้ป่วยที่เข้ารับการปลูกถ่ายครั้งนี้เป็นผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย และมีสัญญาณการทำงานของไตผิดปกติ โดยครอบครัวของผู้ป่วยให้ความยินยอมในการทดลองนี้ก่อนที่เครื่องช่วยหายใจของเธอจะถูกถอดออก หลังปลูกถ่ายแล้วทีมแพทย์วางไตใหม่ซึ่งเชื่อมต่อกับเส้นเลือดของผู้ป่วยเรียบร้อยแล้วไว้นอกร่างกายของผู้ป่วยเป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้ทีมแพทย์สังเกตการณ์
ทางด้าน โรเบิร์ต มอนต์โกเมอรี่ ซึ่งเป็นผู้นำทีมศัลยแพทย์ที่ทำการวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า ผลการทดสอบการทำงานของไตที่ปลูกถ่ายออกมาค่อนข้างเป็นปกติ ไตหมูที่ปลูกถ่ายสามารถผลิตปัสสาวะในปริมาณใกล้เคียงกับไตที่ปลูกถ่ายจากมนุษย์ และยังไม่มีหลักฐานว่าจะเกิดภาวะปฏิเสธอวัยวะซึ่งพบในการทดลองก่อนหน้าที่ปลูกถ่ายไตหมูที่ยังไม่ตัดต่อยีนในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่มนุษย์ รวมถึงระดับครีเอตินีนซึ่งบ่งบอกว่าไตทำงานผิดปกติในเลือดของผู้ป่วยยังกลับสู่ระดับปกติหลังการปลูกถ่าย
โดยทีมงานได้ตั้งทฤษฎีว่า การกำจัดยีนของหมูซึ่งเป็นโมเลกุลน้ำตาล หรือไกลแคน (glycan) ที่เรียกว่า alpha-gal ซึ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะปฏิเสธอวัยวะเฉียบพลัน จะช่วยแก้ปัญหาได้ และความสำเร็จในครั้งนี้จะนำไปสู่การทดลองปลูกถ่ายอวัยวะในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในอึก 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อดูว่าจะใช้แก้ปัญหาระยะสั้นสำหรับผู้ป่วยวิกฤตจนกว่าไตสำรองจากมนุษย์จะพร้อมใช้ หรือจะปลูกถ่ายแบบถาวร ซึ่งการทดลองครั้งล่าสุดนี้เป็นการปลูกถ่ายเพียงครั้งเดียว และไตถูกปล่อยไว้เพียง 3 วันเท่านั้น ดังนั้นในอนาคตอาจพบอุปสรรคใหม่ๆ ให้ต้องแก้ปัญหาต่อไป