วันนี้ (22 ต.ค.2564) นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยตัวเลขว่า จากข้อมูลศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีฯ ว่าระหว่างเดือน ต.ค.63-ก.ย.64 มีผู้ถูกกระทำด้วย "ความรุนแรงในครอบครัว" 2,177 ราย โดยเพศที่เป็นฝ่ายกระทำคือ เพศชาย 86% ที่น่าสนใจคือ 65% เป็นคนที่ไม่เคยกระทำ "ความรุนแรงในครอบครัว" มาก่อน
หากดูตัวเลขสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2561 เฉลี่ยมีเหตุ "ความรุนแรงในครอบครัว" เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2561 เฉลี่ย 113 เรื่องต่อเดือน ปี 2562 ขยับมาเป็น 140 เรื่องต่อเดือน ปี 2563 ยังเฉลี่ยใกล้เคียงกับปี 2562 แต่ที่น่าตกใจคือ ปี 2564 ค่าเฉลี่ยขยับไปเป็น 200 เรื่องต่อเดือน ซึ่งสถานการณ์โควิดเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด "ความรุนแรงในครอบครัว" มากขึ้น ด้วยมาตรการปิดสถานที่หรืองดกิจกรรมรวมกลุ่ม ทำให้ครอบครัวมีเวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น ประกอบกับได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และความเครียดที่ถาโถมเข้ามา แต่ไม่สามารถออกไปผ่อนคลายได้เหมือนเดิม จึงสะสมความเครียดไว้ หลายคนจึงเลือกหาทางออกด้วยการดื่มสุรา หรือเสพยาเสพติด ยิ่งทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวบานปลายมากขึ้น
อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว บอกด้วยว่าจากนี้ต้องเน้นย้ำสร้างความเข้าให้คนในสังคมว่าถ้าหาก "ความรุนแรงในครอบครัว" เกิดขึ้นแล้ว ขอให้ผู้ถูกกระทำในครอบครัว หรือผู้พบเห็นให้รีบแจ้งแจ้งตำรวจ หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่หมายรวมถึงทุกคน ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ได้ระบุมาตรา 6 ไว้อย่างครอบคลุมแล้วว่าผู้พบเห็นสามารถแจ้งได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าเป็นเรื่องของครอบครัวอื่น เราไม่สามารถแจ้งได้