"หมอธีระ"เผย ทำไมไทย โควิด19 ระบาด มากกว่า สหรัฐอาหรับอีมิเรตส์ 100 เท่า 

23 ตุลาคม 2564

"หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ เผย ข้อมูลการระบาด โควิด19 ของไทยกับสหรัฐอาหรับอีมิเรตส์ มากกว่า UAE 100 เท่า 

"หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ถึง สถานการณ์โควิด-19 ว่า

ข้อมูลวิชาการสำหรับคนที่ได้ Sinopharm
สหรัฐอาหรับอีมิเรตส์ (UAE) ได้ใช้วัคซีน Sinopharm นี้ให้แก่ประชาชนของเค้า จากนั้นได้พิจารณาให้ mRNA vaccine คือ Pfizer/Biontech เป็นเข็มกระตุ้นตั้งแต่สิงหาคมเป็นต้นมา
การระบาดของ UAE นั้นสามารถกดการระบาดจากหลายพันต่อวัน เหลือเพียงต่ำกว่าร้อยคนต่อวันในปัจจุบัน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพียง 1-2 คนต่อวัน
ในขณะที่ไทยเรากดการระบาดได้น้อย ลดจากสองหมื่นกว่า เหลือหมื่นกว่าต่อวันอย่างต่อเนื่อง มากกว่า UAE 100 เท่า อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อจากการส่งตรวจนั้น ไทยมากกว่า UAE 200 เท่า และจำนวนผู้เสียชีวิต 70-80 คนต่อวัน ไทยมากกว่าเค้าหลายสิบเท่า 

 

ความแตกต่างกันระหว่างไทยกับ UAE

ความแตกต่างกันระหว่างไทยกับ UAE คือ เรื่องวัคซีนทั้งชนิด วิธีใช้ และความครอบคลุม โดยไทยเรามีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสน้อยกว่า UAE ถึงครึ่งหนึ่ง 
รวมถึงสิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ ศักยภาพในการตรวจคัดกรองโรค ซึ่งที่ UAE ตรวจคัดกรองจำนวนมากกว่าไทยอย่างมาก โดยเค้าตรวจ 30 ครั้งต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่ไทยตรวจ 0.6 ครั้งต่อประชากร 1,000 คน
ปัจจัยเรื่องนโยบายและการจัดการเรื่องวัคซีน และศักยภาพของระบบการตรวจคัดกรองโรคนั้นจึงเป็นเหตุผลอธิบายความแตกต่างของสถานการณ์ระบาด
ล่าสุด Moghnieh R และคณะ จากประเทศเลบานอน ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารการแพทย์ระดับสากล Vaccine วันที่ 13 ตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา โดยประเมินผลของการฉีด Pfizer/Biontech เป็นเข็มกระตุ้นในกลุ่มประชากรที่ได้รับวัคซีน Sinopharm ไปครบสองเข็มแล้วภายใน 3 เดือน พบว่ามีความปลอดภัย และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงถึง 8,040 BAU/ml (ช่วงความเชื่อมั่น 4,612-14,016) ณ 14 วันหลังฉีดเข็มกระตุ้น

ข้อมูลจากเลบานอนนี้ อย่างน้อยก็เป็นประโยชน์สำหรับคนที่ได้รับวัคซีน Sinopharm ไปว่า การฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA นั้นมีข้อมูลจากทั้งใน UAE ว่าคุมการระบาดได้ดี อัตราการตายน้อย และงานวิจัยจากเลบานอนที่ชี้ให้เห็นว่ากระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันได้ดี และมีความปลอดภัย
แม้จากทั้งสองกรณีจะเป็น Pfizer/Biontech แต่ในประเทศไทยนั้นวัคซีนทางเลือกที่เราจองกันไว้คือ Moderna ซึ่งเป็นกลุ่ม mRNA vaccine เหมือนกัน 
อย่างไรก็ตาม แต่ละยี่ห้อนั้นมีขนาดแตกต่างกัน อาจมีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่ต่างกันได้เช่นกัน คงต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิง
Moghnieh R et al. Immunogenicity and reactogenicity of BNT162b2 booster in BBIBP-CorVvaccinated individuals compared with homologous BNT162b2 vaccination: Results of a pilot prospective cohort study from Lebanon. Vaccine. 2021 Oct 13;S0264-410X(21)01314-1.

หมอธีระ เผย ความแตกต่างกันระหว่างไทยกับ UAE