"หมอธีระ"เตือน นี่เป็นการเดิมพันที่สูงมาก

25 ตุลาคม 2564

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความกล่าวถึง สถานการณ์โควิด19 ในไทยเรา

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เผยว่า 

25 ตุลาคม 2564
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 314,526 คน ตายเพิ่ม 4,495 คน รวมแล้วติดไปรวม 244,405,520 คน เสียชีวิตรวม 4,963,326 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ สหราชอาณาจักร รัสเซีย ตุรกี ยูเครน และอเมริกา
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.93 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.86 

หมอธีระ

...สำหรับสถานการณ์ไทยเรา
เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 9,351 คน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก
หากรวม ATK อีก 4,163 คน จะขึ้นเป็นอันดับ 7 ของโลก
และไม่ว่าจะเป็นแค่ยอดที่รายงานทางการ หรือจะรวม ATK ก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
...มองไทย อเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมัน 
ทั้งอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมัน ล้วนอยู่ในรายชื่อ 46 ประเทศที่ไทยประกาศให้สามารถเดินทางมาได้ตั้งแต่ต้นเดือนหน้า

ทุกประเทศข้างต้นล้วนมีจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อวันสูง อยู่ในอันดับท็อปเท็นของโลกเช่นเดียวกับไทย
จำนวนติดเชื้อแต่ละวันของเค้าสูงกว่าไทย แต่อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อจากการส่งตรวจน้อยกว่าไทย
อัตราการฉีดวัคซีนครบโดสนั้นสูงกว่าไทย แต่หากสังเกตจะพบว่าอเมริกาและสหราชอาณาจักรนั้นฉีดครบไปมากตั้งแต่ 6 เดือนก่อน ในขณะที่เยอรมันก็ใกล้จะครบ 6 เดือน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจมีระดับภูมิคุ้มกันที่ตกลงไป จนจำเป็นต้องได้เข็มกระตุ้น 

ส่วนศักยภาพของระบบการตรวจคัดกรองโรคมาตรฐานนั้น ทุกประเทศสามารถทำได้มากกว่าไทยหลายเท่า
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้ทราบว่า การเปิดประเทศของไทยครั้งนี้นั้นเป็นการเดิมพันที่สูงมาก
หากระบบคัดกรองโรคของไทยไม่ดีพอ ด้วยจำนวนการติดเชื้อของแต่ละประเทศที่มีสูง ก็ย่อมมีโอกาสหลุดรอดของผู้ติดเชื้อเข้ามาในประเทศได้ โดยที่ต้องระวังคือสายพันธุ์กลายพันธุ์ เช่น เดลต้าพลัส AY.4.2 หรืออื่นๆ

หมอธีระ

ในแง่ของประวัติการฉีดวัคซีน ถ้าจะลดภาระของระบบสาธารณสุขในการดูแลผู้ติดเชื้อที่มีอาการเจ็บป่วย เกณฑ์ที่ดูประวัติการฉีดวัคซีนอาจต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่ฉีดครบโดสของแต่ละประเทศด้วย เช่น หากเกิน 6 เดือนก็จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่ใช้วัคซีนเชื้อตาย ก็อาจต้องกำหนดเป็น 3 เดือน เป็นต้น ทั้งนี้การปรับเกณฑ์ดังกล่าวจะได้ประโยชน์ทั้งตัวผู้เดินทางเอง และต่อประเทศปลายทางด้วย
สุดท้าย ไทยคงต้องตระหนักว่า ศักยภาพของระบบตรวจคัดกรองโรคมาตรฐานแบบ RT-PCR นั้นมีจำกัด ดังนั้นจึงควรรีบขยายศักยภาพบริการให้มากและครอบคลุมพื้นที่เพียงพอ มิฉะนั้นเวลาเกิดการระบาดปะทุขึ้นมา จะรับมือปัญหาได้ยาก ไม่ทันท่วงที และเหมือนย้อนกลับไปเห็นภาพในหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งรอคิวตรวจข้ามคืน ป่วยหรือเสียชีวิตโดยไม่ได้ตรวจ 
เหนืออื่นใด ด้วยระบบตรวจที่มีข้อจำกัด วัคซีนยังไม่ครอบคลุม และสถานการณ์ระบาดในประเทศของเรายังสูงเป็นทุนเดิม ความเสี่ยงหลังเปิดประเทศย่อมมีสูง ประชาชนอย่างพวกเราทุกคนจึงควรตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตนเองและครอบครัวอย่างเคร่งครัด
ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก
อยู่ห่างคนอื่นเกิน 1 เมตร ลดอัตราติดเชื้อได้ 5 เท่า
ด้วยรักและห่วงใย

หมอธีระ