กรมทางหลวง ได้ทำการสรุปสถานการณ์อุทกภัยและดินสไลด์บนทางหลวง สถานการณ์ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เวลา 12.30 น. พบทางหลวงถูกน้ำท่วม/ดินสไลด์ในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น, จ.มหาสารคาม, จ.นครราชสีมา, จ.นนทบุรี, จ.อ่างทอง, จ.พระนครศรีอยุธยา, จ.สุพรรณบุรี, จ.นครปฐม, จ.สุโขทัย, จังหวัดปราจีนบุรี, จังหวัดตรัง และจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 37 สายทาง 63 แห่ง ทางหลวงที่การจราจรผ่านได้ 44 แห่ง การจราจรผ่านไม่ได้ 19 แห่ง
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดยให้ดำเนินการตามแผนบรรเทาสาธารณภัยอย่างเคร่งครัด พร้อมวางแนวทางป้องกัน–ฟื้นฟู–เยียวยาหลังสถานการณ์คลี่คลายในทุกมิติ พร้อมทั้งเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที และประชาสัมพันธ์การดำเนินการให้ประชาชนให้รับทราบมีรายละเอียด สถานการณ์ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เวลา 12.30 น. จังหวัดที่การจราจรผ่านไม่ได้ 8 จังหวัด 14 สายทาง 19 แห่ง รายละเอียดดังนี้
1. จังหวัดขอนแก่น 1 แห่ง ได้แก่ ทล.2 ท่าพระ – ขอนแก่น พื้นที่ อ.เมือง ช่วง กม.ที่329 (จุดกลับรถใต้สะพานบ้านกุดกว้าง) ระดับน้ำสูง 200 ซม.
2. จังหวัดมหาสารคาม 1 แห่ง ได้แก่ ทล.213 มหาสารคาม – หนองขอน พื้นที่ อ.กันทรวิชัย ช่วง กม.ที่ 5 (อุโมงค์ท่าขอนยาง) ระดับน้ำสูง 220 ซม. ลำน้ำชีล้นตลิ่ง มีระดับน้ำสูงขึ้น ผนังกั้นน้ำถูกกัดเซาะ ทำการปิดทางลอดอุโมงค์ใต้สะพาน
3. จังหวัดนครราชสีมา 1 แห่ง ได้แก่ ทล.202 ดอนตะหนิน – ตลาดไทร พื้นที่ อ.ประทาย ช่วง กม.ที่ 93 ระดับน้ำสูง 10 – 20 ซม.
4. จังหวัดนนทบุรี 3 แห่ง 2 สายทาง ได้แก่
- ทล.302 สะพานพระนั่งเกล้า – ต่างระดับบางใหญ่ พื้นที่ อ.บางบัวทอง ช่วง กม.ที่ 16+610 และ กม.ที่16+950
- ทล.307 แยกสวนสมเด็จ – สะพานนนทบุรี พื้นที่ อ.ปากเกร็ด ช่วง กม.ที่0 (จุดกลับรถใต้สะพานนนทบุรี) ระดับน้ำสูง 80 ซม.
5. จังหวัดอ่างทอง จำนวน 2 แห่ง 2 สายทาง ได้แก่
- ทล.32 อ่างทอง – ไชโย พื้นที่ อ.ไชโย ช่วงกม.ที่ 57 (จุดกลับรถบางศาลา) ระดับน้ำสูง 135 ซม. ใช้ทางกลับรถข้างหน้าแทน
- ทล.33 นาคู – ป่าโมก พื้นที่ อ.ป่าโมก ช่วงกม.ที่36 (จุดกลับรถใต้สะพานฝั่งป่าโมก) ระดับน้ำสูง 20 ซม.
6. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 5 แห่ง 3 สายทาง ได้แก่
- ทล.32 นครหลวง – อ่างทอง พื้นที่ อ.บางปะหัน ช่วงกม.ที่32 (จุดกลับรถคลองกะท่อ) ระดับน้ำสูง 1.7 ม. และ ช่วง กม.ที่33
- ทล.3263 อยุธยา – ไผ่กองดิน พื้นที่ อ.บางบาล ช่วง กม.ที่10, กม.ที่11 และ กม.ที่13
7. จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 5 แห่ง 3 สายทาง ได้แก่
- ทล.33 สุพรรณบุรี – นาคู พื้นที่ อ.เมือง ช่วงกม.ที่9 (สะพานคลองทับน้ำ) ระดับน้ำสูง 1 ม. ใช้ทางกลับรถข้างหน้าแทน
- ทล.340 สาลี – สุพรรณบุรี พื้นที่ อ.บางปลาม้า ช่วงกม.ที่49 (สะพานสาลี) ด้านทิศใต้ ระดับน้ำสูง 35 – 40 ซม., กม.ที่59 (สะพานศาลเจ้าแม่ทับทิม) ระดับน้ำสูง 1.8 ม., กม.ที่71 ช่องทางคู่ขนานซ้ายทาง ระดับน้ำสูง 45 ซม.
- ทล.3557 ถนนเข้าเมืองสุพรรณบุรี พื้นที่ อ.เมือง ช่วงกม.ที่0
8. จังหวัดนครปฐม จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ทล.338 พุทธมณฑลสาย4 – นครชัยศรี พื้นที่ อ.สามพราน ช่วงกม.ที่24 – 25 (จุดกลับรถใต้สะพานฝั่งนครปฐม) ระดับน้ำสูง 50 ซม. จุดกลับรถผ่านไม่ได้ ใช้ทางกลับรถข้างหน้าแทน
โดยแขวงทางหลวงในพื้นที่เร่งให้ความช่วยเหลือดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ พร้อมเร่งระบายน้ำและบำรุงรักษาเส้นทาง โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและให้ประชาชนได้รับความสะดวกปลอดภัยจากการสัญจรโดยเร็วที่สุดอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้สั่งการให้ สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงทั่วประเทศ เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีพื้นที่ใดประสบปัญหา เจ้าหน้าที่จะเข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทันที ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นอกจากนี้กรมทางหลวงได้ติดตั้งป้ายเตือนและอุปกรณ์ความปลอดภัย อุปกรณ์นำทาง ในบริเวณทางหลวงที่ถูกน้ำท่วม พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์จนกว่าจะคลี่คลาย โดยขอให้ประชาชนผู้ใช้ทางโปรดใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง ปฏิบัติตามป้ายเตือน ป้ายแนะนำ และคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด หากประชาชนต้องการสอบถามสภาพเส้นทาง สภาพการจราจร หรือ ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อ ได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงในพื้นที่ และสายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง) และสามารถติดตามการรายงานสถานการณ์สภาพเส้นทางและเส้นทางเลี่ยงได้ที่ทวิตเตอร์กรมทางหลวง @prdoh1