จากการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ได้ทำความเสียหายไปยังหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งความหวังหนึ่งเดียวของมวลมนุษยชนตอนนี้ก็คือ วัคซีนที่ดีสุด ที่มีประสิทธิภาพช่วยลดอัตราการเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อโควิด 19 ได้ ล่าสุด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดแถลงก่อนการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 20 หรือ G20 ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 30 - 31 ตุลาคม 2564
ตามเนื้อหาการแถลงระบุว่า การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่กรุงโรม ต้องไม่อยู่บนพื้นฐานความโลภและความเห็นแก่ตัว และประกันให้มีการจัดสรรวัคซีนโรคโควิด-19 อย่างเป็นธรรมไปทั่วโลก ซึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ผู้นำประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก 20 ประเทศ จัดการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ประจำปีทางออนไลน์
โดยเน้นการสนับสนุนการจัดสรรวัคซีนโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนทุกคน ทว่า หนึ่งปีผ่านไป ประเทศมหาอำนาจในโลกยังคงไม่สามารถปกป้องชีวิตของประชาชนนับล้านคนได้ แต่เลือกที่จะกักตุนวัคซีน ส่งผลให้เกิดความขาดแคลนวัคซีน และส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศที่เหลือในโลก ในปัจจุบัน ประเทศร่ำรวยกักตุนวัคซีนไว้แล้วประมาณ 500 ล้านโดส
ทั้งนี้ แอคเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เผยว่า การจัดสรรวัคซีนเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทำให้ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงจากโรคโควิด เกิดความหวังว่าจะสามารถช่วยรักษาชีวิตประชาชนนับล้านคน ซึ่งนับแต่การฉีดวัคซีนเข็มแรกในโลก อัตราการเสียชีวิตได้เพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคนเป็นเกือบ 5 ล้านคนในปี 2564 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเข้าถึงวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมอย่างสุดโต่ง
มีตอนหนึ่งในใจความคำแถลงระบุว่า "ยากที่จะเข้าใจถึงความโลภและความเห็นแก่ตัวที่อยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตของประชาชนเหล่านี้ ในขณะที่สัดส่วนประชากรในประเทศ G20 ได้รับวัคซีนแล้วประมาณ 63% แต่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางค่อนไปทางต่ำมีประชากรเพียง 10% ที่ได้รับวัคซีน
สิ่งที่ผู้นำเหล่านี้ทำในปีที่ผ่านมามีแต่การกักตุน และสนับสนุนให้เกิดความขาดแคลนวัคซีนอย่างเต็มที่ โดยร่วมมือกับบริษัทยาขนาดใหญ่ การเสียชีวิตหลายล้านคนแสดงให้เห็นความเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อชีวิตมนุษย์ น่ากลัวเป็นอย่างยิ่งที่เห็นผลกำไรสำคัญกว่าชีวิตคน และเป็นความเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อพันธกรณีระดับโลก"
เมื่อปีที่แล้ว (2563) ประเทศ G20 ได้สั่งซื้อล่วงหน้าและได้จัดซื้อวัคซีนโรคโควิดที่มีอยู่เกือบทั้งหมด ตั้งแต่ก่อนจะมีการอนุมัติให้ใช้วัคซีนเหล่านี้ด้วยซ้ำ หลายประเทศกักตุนวัคซีนมากถึงขนาดที่สามารถใช้ฉีดประชากรของตนเองได้หลายรอบด้วยกัน ในปี 2564 พวกเขายังคงกักตุนวัคซีนส่วนเกินต่อไป โดยเลือกที่จะเก็บไว้เฉยๆ แทนที่จะนำมาจัดสรรให้ประชาชนที่ต้องการวัคซีนเป็นอย่างมาก
ต่อมาในวันที่ 22 กันยายน 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวแคมเปญรณรงค์ระดับโลก "นับถอยหลัง 100 วัน" #100DayCountdown เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกที่จะฉีดวัคซีน 40% ของประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางค่อนไปทางต่ำภายในสิ้นปีนี้ แคมเปญนับถอยหลัง 100 วัน เรียกร้องให้รัฐบาลที่มีวัคซีนส่วนเกิน นำมาจัดสรรให้กับประเทศอื่นๆ ภายในสิ้นปีนี้
มีใจความหนึ่งถูกระบุไว้อย่างน่าสนใจว่า "ในขณะที่บางประเทศสัญญาที่จะนำวัคซีนมาจัดสรรใหม่ แต่หลายประเทศยังคงไม่กำหนดกรอบเวลาอย่างชัดเจน โดยบางประเทศเพียงแต่สัญญาว่าจะจัดสรรวัคซีนให้ภายในเดือนกันยายนปีหน้า"
เลขาธิการแอมเนสตี้ระบุว่า "ต้องมีการจัดสรรวัคซีนในตอนนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราต้องการให้มีการเปิดประเทศอีกครั้ง และช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างเป็นธรรม เวลากำลังเหลือน้อยลงทุกที ถึงเวลาที่จะต้องดำเนินการในตอนนี้"
อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุม G20 จะมาถึง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรวมทั้งสมาชิกเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อวัคซีน ขอเรียกร้องผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ให้จัดสรรวัคซีนใหม่ โดยจะจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างแรงกดดันในการประชุมซึ่งจะมีขึ้นที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้
ข้อมูลจาก Amnesty International