"หมอมนูญ" หรือ นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุข้อความว่า
ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะดำเนินโรคต่อไปถึงขั้นรุนแรง ได้แก่อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ภาวะอ้วน ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และหญิงตั้งครรภ์ ควรพิจารณาให้ยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี (monoclonal antibody) หยดเข้าหลอดเลือดดำครั้งเดียว เร็วที่สุดที่ตรวจเจอและมีอาการภายใน 3-5 วัน ถ้าให้ยิ่งเร็วยิ่งดี ถ้าให้ช้ามีอาการรุนแรงแล้ว ไม่มีประโยชน์ ควรให้โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยรับวัคซีน หรือได้วัคซีนเพียง 1 โดส หรือได้วัคซีนเชื้อตาย 2 โดส เพื่อลดปริมาณเชื้อไวรัส ลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตได้มากถึง 70% ในอนาคตอันใกล้อาจใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาทางเลือก เพราะเป็นยากิน ราคาถูกกว่าโมโนโคลนอล แอนติบอดี
ผู้หญิงไทยอายุ 89 ปี เป็นเบาหวานโรคความดัน โรคหัวใจ ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว 2 เข็ม มาโรงพยาบาลด้วยอาการไอ มีน้ำมูก ตาแดง 3 วัน ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส ตรวจร่างกาย ตาแดง วัดระดับออกซิเจนได้ปกติ 98% เอกซเรย์ปอดปกติ แยงจมูกตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR SARS-CoV-2 ให้ผลบวก ค่า Cycle threshold value 11.8 ต่ำ บ่งถึงมีเชื้อไวรัสโควิด-19 เยอะมากในทางเดินหายใจ มีค่าการอักเสบในเลือด hs-CRP 36 mg/L (ค่าปกติ 0-5)
วินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถึงแม้จะได้รับวัคซีนครบโดส แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยรุนแรง (อายุมาก เป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ) จึงให้ยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี REGEN-COV (Casirivimab and Imdevimab) หยดเข้าหลอดเลือดดำครั้งเดียวใน 1 ชั่วโมงในวันแรกที่เข้านอนรักษาในโรงพยาบาล ไม่ได้ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาตัวอื่นๆ ผู้ป่วยไม่มีผลข้างเคียงใดๆจากการได้รับโมโนโคลนอล แอนติบอดี ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ไอน้อยลง ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย ระดับออกซิเจนในเลือดปกติ ติดตามเอกซเรย์ปอดปกติ ผลเลือดดีขึ้น ผู้ป่วยหายเร็ว กลับบ้านได้ภายใน 7 วัน