จากกรณี หมอนิธิพัฒน์ หรือ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หลัง ศบค.ประกาศให้กรุงเทพเป็นพื้นที่สีฟ้า เป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวรับการเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 นี้ โดยคุณหมอนิธิพัฒน์โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กใจความระบุไว้ว่า
ใกล้ถึงเส้นตายที่กำหนดให้มีการเปิดและผ่อนคลายประเทศรอบใหม่ ที่น่าห่วงคือการปรับให้เฉพาะกทม.กระโดดข้ามรั้วลงมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดหรือสีแดงเข้ม มาเป็นพื้นที่พิเศษส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือพื้นที่สีฟ้า ผลจากการปรับเปลี่ยนนี้อาจนำมาซึ่งความกังวลใจของภาคการแพทย์และภาคประชาชนในพื้นที่
แม้ว่าตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ของกทม.จะลดลงต่อเนื่องช้าๆ แต่ยังมีผู้ป่วยอาการรุนแรง/วิกฤตตกค้างอยู่ในระบบจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันได้มีการปรับศักยภาพในโรงพยาบาลหลักไปเริ่มดูแลผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิดมากขึ้นแล้ว เพื่อเป็นการผ่อนคลายภาระของบุคคลากรด่านหน้า และยังเป็นการฟื้นคืนระบบสุขภาพเดิมให้กลับมา ทำให้ศักยภาพที่สามารถรับผู้ป่วยโควิดรายใหม่ที่อาการหนัก จะมีเหลืออยู่อีกเพียงจำนวนจำกัด เราคงไม่สามารถเบ่งศักยภาพจนเกินตัวเหมือนช่วงที่ผ่านมาได้แล้ว
การทำให้กรุงเทพเมืองฟ้า(เมืองสวรรค์)กลายเป็นพื้นที่สีฟ้า สิ่งที่จะหดหายไปคือเคอร์ฟิวและการจำกัดจำนวนคนในสถานที่สาธารณะ สิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มขึ้นมาแต่ยังต้องคุยกันหนักระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ การยอมให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงแรมหรือร้านอาหาร ซึ่งอาจเป็นแหล่งกำเนิดของการระบาดระลอกใหม่ได้ ดังบทเรียนในอดีตมากมายทั้งในและต่างประเทศ
- พ่อพระสุนิตร ฟาดแรง หมอปลาใส่ความพระลูกชาย
- ย้อนคำพูด พ่ออดีตพระสุนิตร ปักใจเชื่อลูกถูกใส่ร้าย พร้อมเผยอาชีพก่อนบวช
เนื่องจากกิจกรรมนี้ ทำให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ มีความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดมาตรการควบคุมโรค ทั้งการปลดหน้ากาก การสัมผัสวัตถุร่วมกันโดยไม่ป้องกัน นอกจากนี้ การสังสรรค์เฮฮาที่ตามมา ทั้งการพูดคุยเสียงดังจนไปถึงการร้องเพลง จะทำให้เกิดละอองฝอยฟุ้งกระจายในอากาศรอบตัว ดังนั้น แค่มีผู้ติดเชื้อเล็ดลอดเข้าไปในสถานที่แห่งนั้นได้เพียงคนเดียว รับรองว่ามีซุปเปอร์สเปรดเดอร์ตามมาแน่
SHA+ เป็นมาตรการสำคัญที่จัดทำร่วมกันระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำให้ห่วงโซ่ทุกข้อของการรองรับการเปิดประเทศมีความปลอดภัย ทั้งต่อตัวนักท่องเที่ยวเอง และต่อคนในประเทศของเราที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ปัจจุบันในกทม. ยังมีร้านอาหารและโรงแรมที่ได้รับการรับรองเป็นสัดส่วนซึ่งยังไม่มากนัก ทางฟากฝั่งของผู้ให้บริการอาจเกิดความยากลำบากในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเดิมไปสู่วิถีใหม่ แต่ก็ต้องถือว่าผู้ให้บริการควรร่วมรับผิดชอบเพื่อแลกกับสิ่งที่จะได้รับประโยชน์ อีกหนึ่งตัวละครที่สำคัญไม่แพ้กันคือผู้คุมกฎ ซึ่งอดีตที่ผ่านมามักจะเล่นบทซูเอี๋ยให้พวกเราเห็นกันเสียส่วนใหญ่
ดังนั้น ในระยะแรกของมาตรการในกทม. ผมขอเป็นเสียงหนึ่งของภาคการแพทย์ วิงวอนให้ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป การดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะต้องจำกัดในสถานที่ที่มีความพร้อมในการควบคุมโรค อีกทั้ง ต้องเข้มงวดจำกัดช่วงเวลาและจำกัดจำนวนคนที่เข้าไปใช้บริการ
ทิ้งท้าย..
ด้วยการเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน เห็นความสำคัญในการจัดเตรียมสถานที่สาธารณะที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ให้มีการควบคุมจำนวนคนที่เข้าไปในสถานที่นั้นตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมจัดให้มีระบบหมุนเวียนอากาศและการกำจัดอนุภาคแขวนลอยโดยเฉพาะไวรัสที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอนาคตควรจัดทำเป็น SHA++ ที่เพิ่มข้อกำหนดและการตรวจสอบมาตรฐานด้านอากาศเข้าไปสำหรับหน่วยงานที่มีความพร้อม
ในบทความจาก https://onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.1111/ina.12946 ได้แสดงผ่านแบบจำลองให้เห็นว่า หากระบบระบายอากาศในห้องไม่ดี การฟุ้งกระจายของละอองฝอย (aerosols) สู่คนรอบข้าง จะมีทั้งในระยะไกลตามที่เคยเชื่อกันอยู่เดิม และระยะใกล้ภายใน 2 เมตรที่นำเสนอนี้ พร้อมยังคาดการณ์ไปได้ด้วยว่า แม้เป็นพื้นที่เปิดนอกตัวอาคารที่อากาศนิ่งหรือมีลมอ่อน การฟุ้งกระจายของละอองฝอยในระยะใกล้สู่คนรอบข้าง ก็ยังเกิดขึ้นได้ไม่ต่างกับการอยู่ในห้อง
เปิดและผ่อนคลายประเทศไม่ว่าแต่อย่าเหลิง
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews