จากกรณีเกิดน้ำหนุน ในหลายพื้นที่ ทั่วเขต กทม. บางจุดสูงจนรถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ อย่างเช่น ถนนพระราม 3 ขาออก ช่วงแยกวงแหวนอุตสาหกรรมน้ำทะเลหนุนสูง ไหลเข้าท่วมผิวการจราจร โดยเฉพาะ 2 ช่องทางซ้าย รถผ่านไม่ได้ การจราจรติดขัดสะสม จนมีหลายคนตั้งคำถามว่าหรือนี่จะเป็นสัญญาณเตือนอะไรหรือเปล่า
ทั้งนี้หากย้อนไปช่วงเดือนกันยายน ทาง รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ และศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล เปิดเผยสถานการณ์ของพายุฝน โดยนำแบบจำลองมาชี้จุดเสี่ยง ที่มีโอกาสจะเกิดพายุ ฝนตกหนักและน้ำท่วมใหญ่ ในระยะเวลา 3 เดือน “กันยายน – ตุลาคม – พฤศจิกายน” พบว่ามีความเป็นไปได้ กทม. จะมีฝนตกหนัก แต่จะไม่เจอเหตุการณ์เหมือนปี 2554 และช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนของปี 64 ภาคใต้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่
โดยทาง รศ.ดร.เสรี ยังได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก กล่าวถึง ปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ครั้งนี้ว่า... สวัสดีครับ วันนี้น้ำทะเลหนุนสูง แม้ว่าปริมาณน้ำเหนือที่ปล่อยผ่านมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา (ผ่านสถานีบางไทร 2,500 cms) และแม่น้ำท่าจีน (ผ่านประตูน้ำโพธิ์พยา 60 cms) รวมทั้งการระบายน้ำจากทุ่งรับน้ำในภาคกลาง ส่งผลให้หลายพื้นที่ในภาคกลางตอนล่าง กทม. และปริมณฑลโดยเฉพาะสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม (บางเลน นครชัยศรี สามพราน) มีระดับน้ำล้นคันกั้นน้ำ ตามที่ผมได้ให้ข้อมูลไปแล้วเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา
อิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูงในปีนี้ รุนแรงกว่าในปี 2554 กล่าวคือ ปี 2554 อิทธิพลน้ำเหนือมีสูงกว่า (จึงทำให้ช่วงเวลาน้ำท่วมทอดเวลายาว) แต่ในปีนี้มาในช่วงน้ำเกิด ประมาณทุกๆ 2 สัปดาห์ เหตุการณ์แบบนี้ในระยะสั้น หลังจากวันที่ 10 พ.ย. จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามช่วงประมาณวันที่ 21-24 พ.ย. น้ำทะเลจะหนุนสูงอีกครั้งหนึ่ง (แต่ระดับอาจจะต่ำกว่าวันนี้ประมาณ 0.20-0.30 m) และจะหนุนสูงสุดในปีนี้ (สูงกว่าวันนี้ประมาณ 0.10-0.20 m) ช่วงวันที่ 5-9 ธ.ค. ดังนั้น ต้องเฝ้าระวังกันด้วยครับ ในระยะยาว (อาจไม่ถึง 10 ปี) เหตุการณ์แบบนี้ จะเห็นชัด และรุนแรงมากขึ้นจาก Climatechange (รวมทั้ง Land use change) โดย กทม. และปริมณฑลถูกประเมินโดยคณะทำงาน IPCC และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเป็นหนึ่งในเมืองหลวงที่มีความเปราะบางสูงมาก เป็นไปตามรหัสสีแดง จากรายงาน
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews