หนุ่มรายหนึ่ง สมาชิก PANTIP ที่ใช้ชื่อว่า โลลิบันไซ ได้ออกมาเขียนข้อความ หลังตัวเองป่วยโควิด-19 ขั้นรุนแรง เข้าไอซียูและต้องใส่ท่อช่วยหายใจ โดยระบุข้อความดังนี้
สวัสดีครับ ผมเป็นคนที่เคยติดเชื้อโควิด และอาการทรุดหนักถึงขั้นเข้าไอซียูและต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งปัจจุบันรักษาหายและได้ออกจาก รพ. มาประมาณ 5 เดือนแล้ว ผมตั้งกระทู้นี้มาเพื่อแชร์ประสบการณ์ของผู้ป่วยโควิดอาการหนักที่ตัวผมได้ประสบมา เป็นมาอย่างไรถึงได้อาการหนัก และหนักที่ว่านั้นขนาดไหน แล้วหลังจากหายป่วยแล้วร่างกายกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่
1. ข้อมูลพื้นฐาน ปัจจัยเสี่ยง
ตอบ : ผมอายุ 39 ปี สูง 171 ซม. น้ำหนัก 66 กก. ไม่มีโรคประจำตัว ไม่สูบบุหรี่ นานๆจะดื่มบ้างเฉพาะเวลามีงานเลี้ยงของที่ทำงาน สภาพร่างกายทั่วไป มีวิ่งฮาฟมาราธอนได้ เรียกได้ว่าร่างกายยังแข็งแรงพอควร ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ
2. ติดเชื้อได้อย่างไร
ตอบ : คาดว่าติดเชื้อจากคุณพ่อ ที่ติดเชื้อเป็นคนแรกในบ้าน และสมาชิกในบ้านอีก 3 คนได้ไปตรวจ พบว่าคุณแม่ติดเพิ่มอีกคน ส่วนผมตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อ แต่มีอาการเสี่ยงคือไข้สูงประมาณ 38 ต่อเนื่องหลายวัน ซึ่งตอนแรกเข้าใจว่าเป็นเพราะทำงานหนักพักผ่อนน้อย มีวันนึงที่ทำงานโต้รุ่ง ไม่ได้นอนทั้งคืน ทาง รพ. จึงรับดูแล เนื่องจากมีความเสี่ยงติดเชื้อสูง มีการตรวจซ้ำครั้งที่สอง ก็ยังไม่พบเชื้อ แต่อาการไข้ยังมีไข้สูงเหมือนเดิม ครั้งที่สาม คุณหมอจึงมา swab ด้วยตัวเอง จึงพบว่าติดเชื้อ
3. เมื่อพบว่าติดเชื้อ มีการรักษาอย่างไร
ตอบ : รพ. ย้ายผมไปตึกผู้ป่วยโควิดที่ดัดแปลงเป็น รพ.สนาม ทุกวันจะให้กินยาต้านไวรัส และพยาบาลแจ้งว่านอกจาดติดโควิดแล้ว ยังมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย ทำให้มีไข้สูงต่อเนื่อง ถ่ายเหลวและไอหนัก แทบจะไอตลอดเวลา และเวลาพูดคุย น้ำเสียงจะดูเหนื่อยๆ จึงมีการฉีดยาฆ่าเชื้อให้ทุกวัน
รักษาแบบนี้อยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ ระดับออกซิเจนลดลงจนอยู่ที่ประมาณ 90-91 (คนปกติจะอยู่ที่ 95-100) จนต้องเริ่มให้ออกซิเจนเพิ่ม โดยจะเป็นสายยางเสียบเข้าที่รูจมูก ให้ออกซิเจนเพียงวันเดียว พยาบาลมาแจ้งว่าปอดเริ่มไม่ดี จะย้ายไป รพ. ที่ใหญ่กว่าเดิมเนื่องจากมีห้องความดันลบและเครื่องมือที่ดีกว่า
4. ย้าย รพ. แล้วเป็นอย่างไรต่อ
ตอบ พอย้าย รพ. ได้มาอยู่ห้องความดันลบ 2 คืน พยาบาลแจ้งว่าจะต้องย้ายไปห้องไอซียู และใส่ท่อช่วยหายใจ เนื่องจากอาการทรุดเร็วมาก หายใจเองไม่ได้ โดยต้องวางยาสลบเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งท่อที่ว่านี้จะเป็นท่อยาวๆ ใส่เข้าไปในปากลงไปที่หลอดลมโดยตรง
5. สภาพในห้องไอซียูโควิดเป็นอย่างไร
ตอบ จะเป็นห้องเตียงเดี่ยว มีเครื่องวัดระดับออกซิเจน วัดความดัน วัดชีพจร และเครื่องช่วยหายใจที่เป็นท่อยาวๆใส่เข้ามาทางปาก พยาบาลจะเข้ามาเฉพาะเวลาจำเป็นเท่านั้น เช่น ตอนที่มาให้อาหารหรือมาฉีดยา และทุกครั้งที่เข้ามาจะต้องใส่ชุด PPE (ชุดที่คล้ายๆชุดอวกาศนั่นแหละ) ทำให้บรรยากาศมันโดดเดี่ยวมาก แทบไม่มีใครเข้ามาได้ ไม่เคยเห็นหน้าหมอ จะได้ยินแต่เสียงผ่านทางลำโพงเท่านั้น จะกดออดเรียกพยาบาลก็ไม่มีให้กด ต้องเอาสายวัดออกซิเจนออกจากนิ้ว เพื่อให้เครื่องดัง พยาบาลจะได้เข้ามาดูได้
6. หลังจากวางยาสลบใส่ท่อช่วยหายใจแล้วเป็นอย่างไร
ตอบ : ตอนที่ฟื้นมานั้น ผมยังคิดว่านอนไปแค่คืนเดียว แต่จริงๆ สลบไปประมาณ 3 คืนได้ ตื่นมาก็พบว่าโดนมัดมือกับขอบเตียงเพื่อกันไม่ให้ละเมอแล้วเผลอดึงท่อออก เนื่องจากความรู้สึกตอนที่ใส่ท่อนั้นเป็นช่วงที่ทรมานมาก ทุกครั้งที่กลืนน้ำลายจะเหมือนโดนเข็มแทงที่คอ พูดอะไรก็ไม่ได้เพราะมีท่อคาอยู่ในปาก สื่อสารกับพยาบาลได้แค่ภาษากายเท่านั้น นอกจากใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว ก็ต้องใส่ท่อสวนปัสสาวะ และใส่แพมเพิสสำหรับอุจจาระ ส่วนอาหารนั้นจะได้รับเป็นอาหารเหลวผ่านสายยางเข้าทางจมูก และช่วงที่ทรมานมากที่สุดก็คือช่วงที่พยาบาลต้องเข้ามาใช้เครื่องดูดน้ำลายให้ เจ็บและทรมานมากถึงมากที่สุด
การมีท่อช่วยหายใจนั้น ทุกครั้งที่หายใจเข้าจะเจ็บทุกครั้ง แม้ไม่เท่าตอนกลืนน้ำลาย แต่ก็เจ็บจนหลับไม่ได้ ต้องรอจนร่างกายเพลียไปเอง ถึงจะหลับได้ ในคืนแรกๆ ยังพอทนได้ แต่พอผ่านไปนานๆ เข้า ความรู้สึกท้อ ยอมแพ้ มันเริ่มมากขึ้น มันโดดเดี่ยวอ้างว้าง นับคืนนับวันจนเลิกนับ ทุกวันได้แต่ชำเลืองสายตาไปที่กระจกใสที่มองเห็นภายนอกห้อง และเฝ้าภาวนาขอให้วันนี้มีข่าวดี แต่ทุกครั้งที่พยาบาลเข้ามาดูอาการก็จะบอกว่าให้อดทน ถ้าหายใจเองได้เมื่อไหร่ก็จะได้ถอดเครื่องออก แต่ตอนนี้ยังถอดไม่ได้ ปอดยังไม่ดี บอกแบบนี้ซ้ำๆ จนไร้วี่แววว่าจะมีข่าวดี มือที่ถูกมัดไว้จากเดิมมัดกับเตียง ก็เปลี่ยนเอาถุงน้ำเกลือมาครอบมือแทน จนมือเริ่มชา บางนิ้วก็ไร้ความรู้สึกไปเลย
เหลือบไปมองตัวเลขที่เครื่อง พบว่าระดับออกซิเจนอยู่แค่ประมาณ 48-53 มีแค่ความดันกับชีพจรที่ยัง ok อยู่ สภาพตอนนั้น แวบนึงมันก็มีคิดนะว่าคงไม่รอดแล้วเรา เริ่มเพ้อคุยในใจกับเครื่องกดเจลล้างมือที่มองเห็นในระยะสายตา บางช่วงหนาวสั่นอยากได้ผ้าห่มเพิ่ม แต่อยู่ในห้องเพียงลำพัง ต้องหาวิธีส่งสัญญาณให้พยาบาล เช่น ถอดเครื่องวัดออกซิเจน ชูแขนเวลามีเจ้าหน้าที่สักคนเดินผ่านหน้าห้อง ที่มองเห็นได้ผ่านกระจก ในแต่ละครั้งจะใช้เวลานานมาก หลายชั่วโมงกว่าพยาบาลจะรู้ว่าเราต้องการความช่วยเหลือ และเมื่อรู้แล้ว ก็ยังต้องใ้ช้เวลาเปลี่ยนเป็นชุด PPE แต่ละครั้งก็เกือบๆชั่วโมง
ต้องอยู่สภาพนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ถึงได้ยินเสียงสวรรค์จากหมอว่าอาการดีขึ้นแล้ว จะถอดท่อช่วยหายใจให้ ถ้าวันรุ่งขึ้นอาการไม่แย่ลง ซึ่งก็ได้ถอดออก และทำให้ตกใจมากคือท่อที่ใส่เข้ามานั้น เมื่อดึงออกมา มันยาวมาก แบบว่ายัดเข้าไปได้ยังไง สรุปว่าอยู่ในห้องไอซียูประมาณ 10 วันได้ จึงได้ย้ายไปพักฟื้นที่ตึกอายุรกรรม
7. หลังจากออกไอซียู อาการเป็นอย่างไร
ตอบ : พยาบาลแจ้งว่า ตรวจเชื้อโควิด ไม่พบเชื้อมา 2 ครั้งแล้ว เลยได้ออกจากไอซียู ส่วนสภาพร่างกายนั้นเหมือนเด็กเกิดใหม่ก็ไม่ปาน เนื่องจากไม่มีแรง แรงหายไปทั้งหมด พูดยังไม่ได้ ใช้เวลาประมาณครึ่งวันเพื่อเปลี่ยนจากท่านอนยันตัวให้เป็นท่านั่ง แม้แต่ตั้งคอให้ตรงยังทำไม่ได้ คอจะหนักมาก คอพับลงเหมือนคนก้มหน้า ใช้เวลา 2 วันถึงเริ่มลุกจากเตียงได้ เริ่มพูดได้บ้าง เริ่มเดินช้าๆได้ แต่มือต้องจับเตียงหรือสิ่งของประคองอยู่ แต่ก็มาพบปัญหาใหญ่คือ ตั้งแต่ก่อนเข้าไอซียู ไม่ได้ถ่ายเลย รวมแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ปวดมาก แต่ถ่ายไม่ได้ เพราะร่างกายไม่มีแรง ทรมานมาก จนต้องให้พยาบาลช่วยสวนออกให้ แต่ก็ออกได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ใช้เวลาถ่ายแต่ละครั้งเป็นชั่วโมง จนหมอเห็นว่าเริ่มถ่ายได้บ้างแล้วจึงให้กลับบ้าน
8. อาการหลังจากออก รพ. มาอยู่ที่บ้านเป็นอย่างไร
ตอบ : ช่วงเดือนแรก ต้องหัดเดิน ทำกายภาพบำบัด หัดขึ้นลงบันได และยังคงต้องพยายามถ่าย โดยใช้ยาถ่ายช่วยทุกวัน ใช้ยาถ่ายช่วยประมาณ 1 สัปดาห์ถึงพอจะถ่ายได้เอง ส่วนแรงก็ค่อยๆ กลับมา จากเดินช้าๆ ก็เดินได้เร็วขึ้น จนเดินได้ปกติ แต่ยังขึ้นลงบันไดได้แบบช้าๆอยู่ จนเดือนที่สองถึงจะเริ่มขยับร่างกายได้ใกล้เคียงกว่าปกติ จนครบ 3 เดือน ถึงกลับมาทำงานได้
9. มีอาการ Long Covid หรือไม่
ตอบ คิดว่ามี เพราะ ปัจจุบันผ่านมา 5 เดือนแล้ว ยังรู้สึกได้ว่าร่างกายไม่เหมือนเดิม เหนื่อยไว โดยจะมีอาการชัดขึ้นช่วง 5-6 โมงเย็น เหมือนคนแบตหมด รู้สึกแขนขาสั่นไม่มีแรง คล้ายๆอาการหิวข้าวจนไม่มีแรง หรือแค่นั่งพักเฉยๆ ก็รู้สึกเหมือนหมดแรง ต้องหายใจแรงขึ้น ทำงานบ้านนิดหน่อยก็เหนื่อยหอบ
****************************
ไม่แน่ใจว่าจะสามารถกลับมาเป็นปกติได้หรือไม่ และถ้ากลับมาได้ ก็ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน ไม่ใช่แค่สภาพร่างกาย แต่สภาพจิตใจก็เปลี่ยนไป เพราะตอนที่อยู่ไอซียูมันโดดเดี่ยวมาก เหมือนอยู่ตัวคนเดียว ถ้าไม่ได้กำลังใจจากคนรอบข้างก็ไม่รู้จะเป็นยังไง ก่อนจะติด ก็ไม่เคยคิดว่าติดแล้วจะอาการหนักถึงขั้นเข้าไอซียู เพราะไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงอะไร