"หมอธีระ"เปิดผลวิจัย Long COVID แม้รักษาหาย แต่มันไม่ไปไหน

15 พฤศจิกายน 2564

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

"หมอธีระ"ระบุว่า

15 พฤศจิกายน 2564

ทะลุ 254 ล้านไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 339,883 คน ตายเพิ่ม 4,395 คน รวมแล้วติดไปรวม 254,008,044 คน เสียชีวิตรวม 5,114,940 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย สหราชอาณาจักร เยอรมัน ตุรกี และอเมริกา

Long COVID

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.06 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.94

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นมากถึง 66.11% ของทั้งโลก พอๆ กับจำนวนเสียชีวิตเพิ่มที่คิดเป็น 59.79%

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...สำหรับสถานการณ์ไทยเรา

เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 7,079 คน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก

หากรวม ATK อีก 1,350 คน จะขยับเป็นอันดับ 12 ของโลก

แม้จำนวนติดเชื้อใหม่ที่รายงานอย่างเป็นทางการนั้นจะน้อยกว่าเวียดนาม แต่หากรวม ATK ด้วย ไทยก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

...Long COVID

แพทย์และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ในต่างประเทศมีความเป็นห่วงเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 ของประชาชนทั่วโลกว่า แม้ในอนาคตการระบาดจะลดลง แต่ปัญหาเรื่องการมีอาการคงค้างหลังรักษาโรคโควิดหายไปแล้วหรือที่เรียกว่า Long COVID นั้นจะเป็นปัญหาหนักสำหรับประเทศที่มีจำนวนประชาชนติดเชื้อมาก

บางคนใช้คำว่า Post-pandemic pandemic หรือภาวะโรคระบาดหลังโรคระบาด

แม้คำดังกล่าวอาจมีความหมายไม่ตรงมากนักเพราะเท่าที่ความรู้ปัจจุบันมีอยู่ ภาวะอาการคงค้างดังกล่าวเกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล ไม่ได้แพร่ต่อคนอื่น แต่สามารถสื่อความหมายถึงผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้นทั้งในแง่จำนวนคนที่เป็น Long COVID เอง รวมถึงผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัว และต่อระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งมีสูงทั่วโลกได้

ข้อมูลวิจัยเรื่อง Long COVID มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการศึกษาพบว่าคนที่มีภาวะนี้ มีสารเคมีในเลือดที่บ่งถึงภาวะอักเสบของร่างกาย เช่น Interleukin-6 และบางรายมีสารประเภท autoantibody ด้วย ซึ่งคงต้องมีการศึกษาต่อว่าสารเคมีต่างๆ เหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการผิดปกติต่างๆ ของร่างกายหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยพบว่า ผู้ที่เป็น Long COVID นั้นมีการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ คือ T-cells ด้วย ทำให้มีสมมติฐานที่ตั้งขึ้นมาว่า อาจเป็นไปได้ที่โรคไวรัสโควิด-19 นั้นแม้รักษาหายแล้ว แต่ไวรัสอาจแฝงตัวใน T-cells ระยะยาวในปริมาณน้อย เหมือนโรคที่เกิดจากไวรัสบางชนิดในอดีตก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามนี่ยังเป็นเพียงสมมติฐานที่ต้องมีการศึกษาเพื่อพิสูจน์ต่อไป

ภาวะ Long COVID นั้นพบได้ 20-40% จากรายงานทั่วโลก บางงานวิจัยอาจสูงกว่า ขึ้นอยู่กับคำจำกัดความที่ครอบคลุมเรื่องอาการต่างๆ วิธีการศึกษา รวมถึงประชากรที่ศึกษาด้วย

ดังนั้นคงจะดีที่สุด หากเราป้องกันตัวเองและครอบครัวอย่างเคร่งครัด จะได้ไม่ติดเชื้อ จะได้ไม่เสี่ยงต่อภาวะ Long COVID

ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก

อยู่ห่างคนอื่นเกินหนึ่งเมตร ลดอัตราติดเชื้อลงได้ 5 เท่า

ด้วยรักและห่วงใย

อ้างอิง

1. Peluso MJ et al. Markers of immune activation and inflammation in individuals with post-acute sequelae of SARS-CoV-2 infection. medRxiv. 11 July 2021.

2. Visvabharathy L et al. Neuro-COVID long-haulers exhibit broad dysfunction in T cell memory generation and responses to vaccination. medRxiv. 9 August 2021.

3. Stein R. New clues to the biology of long COVID are starting to emerge. NPR. 12 November 2021.

Long COVID