ผู้เลี้ยงวอน คนซื้อ โปรดเห็นใจ หลังราคาเนื้อหมูพุ่งทะยานไม่หยุด

16 พฤศจิกายน 2564

ผู้เลี้ยงหมู วอนผู้บริโภค ผู้ซื้อ โปรดเห็นใจราคาหมูปรับขึ้นช่วง 1 เดือนจากทนขาดทุน 7-8 เดือน คนทำฟาร์มหมูเจ๊งหลายราย ซ้ำเจอต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุ สถานการณ์ราคาเนื้อหมูที่ปรับขึ้น กิโลกรัมละ 160-170 บาท ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการอาหารปรุงสำเร็จนั้น สมาคมฯขอชี้แจงว่าราคาหมูเพิ่งจะได้ฟื้นแค่เดือนเดียว ตามกลไกตลาด และเพียงแค่ช่วยต่อลมหายใจคนเลี้ยงเท่านั้น เกษตรกรทุกคนจึงอยากขอให้ทุกฝ่ายเห็นใจและเข้าใจปัญหา เพราะคนเลี้ยงหมูมีอาชีพเดียวไม่สามารถเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นได้ แต่ผู้บริโภคยังมีทางเลือก ทั้งเนื้อไก่ ไข่ไก่ หรือปลา ที่เป็นโปรตีนคุณภาพดีเช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร สู้วิกฤตโควิด และวิกฤตอาชีพไปพร้อมๆ กัน

ผู้เลี้ยงวอน "คนซื้อ" โปรดเห็นใจ หลังราคาหมูพุ่งทะยานไม่หยุด

โดยที่ผ่านมาเกษตรกรต้องทนขาดทุนมา 7-8 เดือน ขายหมูราคาตกต่ำ 60-70 บาทมาตลอด สวนทางกับต้นทุนการเลี้ยงที่สูงถึง 78-80 บาทต่อกิโลกรัม แต่ไม่มีใครเหลียวแล วันนี้ยังต้องวิตกต่อสถานการณ์โรคในหมู และโรคโควิด-19 ซ้ำยังมีปัญหาน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายแก่ฟาร์มเลี้ยงหมูในหลายพื้นที่ กว่าจะพลิกฟื้นฟาร์มให้กลับมาเลี้ยงหมูได้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังพาเหรดขึ้นราคาไม่หยุดทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ราคาสูงถึง 10-11 บาทต่อกิโลกรัม กากถั่วเหลืองราคาล่าสุดสูงกว่า 19.80 บาทต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง จากสต็อกผู้ผลิตในต่างประเทศลดลง โดยต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ดังกล่าวคิดเป็น 70% ของต้นทุนการเลี้ยง ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 20-30% ตั้งแต่ต้นปี 2564

ผู้เลี้ยงวอน "คนซื้อ" โปรดเห็นใจ หลังราคาหมูพุ่งทะยานไม่หยุด

 

ด้านความต้องการบริโภคก็ลดลงจากเดิม 22 กิโลกรัม/คน/ปี เหลือเพียง 16 กิโลกรัม/คน/ปี คิดเป็นปริมาณหมูขุน 5 ล้านตัว หรือลดลงถึง 38% กลายเป็นความกดดันที่มีต่อผู้เลี้ยง จนต้องตัดสินใจชะลอการเลี้ยงเพราะไม่กล้าเสี่ยง ถือเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นกับผู้เลี้ยงหมูในช่วงที่ผ่านมา

ผู้เลี้ยงวอน "คนซื้อ" โปรดเห็นใจ หลังราคาหมูพุ่งทะยานไม่หยุด