รฟท. ออกชี้แจงแล้วหลังมีข่าว ทุบสถานีหัวลำโพง เพื่อสร้างเป็นตึกสูง

17 พฤศจิกายน 2564

ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วหลังมีข่าว ทุบสถานีหัวลำโพง เพื่อสร้างเป็นตึกสูง ปิดฉาก 105 ปี หัวลำโพง

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลประเด็นเรื่อง ทุบสถานีหัวลำโพง เพื่อสร้างเป็นตึกสูง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความในสื่อโซเชียลต่างๆ ระบุว่า การรถไฟฯ จะทำการทุบสถานีหัวลำโพง แล้วสร้างเป็นตึกสูงแทนนั้น ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว และชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

รฟท. ออกชี้แจงแล้วหลังมีข่าว ทุบสถานีหัวลำโพง เพื่อสร้างเป็นตึกสูง

กระทรวงฯ ได้มีนโยบายให้รถไฟทุกขบวน โดยเฉพาะรถไฟทางไกล ปรับสถานีปลายทางจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนน กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ และสถานีกลางบางซื่อ เพื่อยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และศูนย์กลางระบบขนส่งแห่งใหม่ของประเทศไทย โดยมุ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เต็มศักยภาพ สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในยุคใหม่ในทุกมิติ ทั้งด้านการเดินทางขนส่ง การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติ ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดภายในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกำหนดกรอบเวลาการดำเนินงานให้ชัดเจน และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันจัดทำแผนรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ก่อนล่วงหน้า

รฟท. ออกชี้แจงแล้วหลังมีข่าว ทุบสถานีหัวลำโพง เพื่อสร้างเป็นตึกสูง

ส่วนแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย เผยหลังจาก รฟท. ย้ายการเดินรถไฟไปที่สถานีกลางบางซื่อทั้งหมดแล้ว จะเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีหัวลำโพง ซึ่งจะเน้นการเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนเมือง และเพิ่มศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยการพัฒนายังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิมให้สอดคล้องกับความสมัยใหม่และปรับเข้ากับรูปแบบการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ดังนั้น จะยังคงอนุรักษ์อาคารหัวลำโพงและจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้อย่างครบถ้วน

 

สำหรับแนวทางการพัฒนา จะให้เป็นศูนย์คมนาคมกลางเมือง ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายจากสถานีกลางบางซื่อมาสถานีกรุงเทพ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถท่องเที่ยวรอบเมือง และเรือท่องเที่ยว พื้นที่บางส่วนซึ่งปัจจุบันคือโรงซ่อมรถไฟ และพวงราง จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้ทันสมัย เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย แหล่งศูนย์รวมร้านค้าและอาหารที่มีชื่อรอบเกาะรัตนโกสินทร์ตั้งแต่อดีต ผสมผสานกับร้านค้าสินค้า แบรนด์เนมระดับโลก ที่ถูกจัดสรรให้อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน นอกจากนี้ ยังจัดสรรพื้นที่กิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัย และเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยรอบ รวมถึงศูนย์ประชุมนานาชาติ และที่สำคัญคือ ยังคงอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้ได้แก่ อาคารสถานีหัวลำโพง ชานชาลา อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จะเชื่อมประวัติศาตร์ให้เข้ากับรูปแบบการดำเนินชีวิตจากอดีตสู่สังคมในอนาคต เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างการอนุรักษ์มรดกอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ กับการสร้างรายได้เพิ่มให้กับการรถไฟฯ และประเทศ

รฟท. ออกชี้แจงแล้วหลังมีข่าว ทุบสถานีหัวลำโพง เพื่อสร้างเป็นตึกสูง

ทั้งนี้ การเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ – รังสิต และบางซื่อ – ตลิ่งชัน เชิงพาณิชย์ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2564 เริ่มให้บริการตั้งแต่เวลา 05.30 – 24.00 น. ทุกวัน อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 12 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท หลังจากที่ได้เปิดให้บริการแบบทดลองเสมือนจริง มาตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 โดยปัจจุบันมียอดผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 6,105 คน ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่สูงถึง 13% สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งได้มีการเชื่อมต่อการเดินทางกับรถโดยสารประจำทาง โดยกรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ปรับปรุงเส้นทางเพื่อรองรับการเชื่อมต่อโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงทุกสถานี เพื่อให้ผู้ใช้บริกรเดินทางได้อย่างสะดวก และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลตามนโยบายรัฐบาล

สำหรับประชาชนที่ต้องการเดินทาง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือสามารถจองตั๋วออนไลน์ได้ทาง เว็บไซต์ www.thairailwayticket.com

รฟท. ออกชี้แจงแล้วหลังมีข่าว ทุบสถานีหัวลำโพง เพื่อสร้างเป็นตึกสูง

บทสรุปของเรื่องนี้ : การรถไฟฯ ไม่ได้จะทุบสถานีหัวลำโพงทิ้ง แล้วสร้างเป็นตึกสูงแทนแต่อย่างใด แต่จะย้ายให้รถไฟทุกขบวนปรับเส้นทางให้สิ้นสุดจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีปลายทางที่สถานีกลางบางซื่อ ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2564 ส่วนสถานีหัวลำโพง จะพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนเมือง และเพิ่มศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยการพัฒนายังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิมให้สอดคล้องกับความสมัยใหม่และปรับเข้ากับรูปแบบการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ดังนั้น จะยังคงอนุรักษ์อาคารหัวลำโพงและจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้อย่างครบถ้วน

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม

 

ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews