จากกรณี สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง "สถานการณ์โลกกับความจริง - ความต้องการของคนไทย" ซึ่งเป็นการสำรวจเกี่ยวกับวิกฤติโควิด-19 ซึ่งยังคงเป็นภัยคุกคามของโลก และผลกระทบที่เกิดตามมา โดยสำรวจจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวน 1,148 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-28 พ.ย. ที่ผ่านมา
โดยผลสำรวจพบว่า ประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ราวๆ ร้อยละ 80 รับรู้ถึงผลกระทบจากวิกฤติโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน ปัญหาหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบที่เกิดกับระบบการศึกษา ตลอดจนการเรียนรู้พัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชน
ความต้องการของประชาชน
- ร้อยละ 80.8 ต้องการให้รัฐช่วยเหลือเยียวยา มุ่งให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น
- ร้อยละ 19.2 ไม่ต้องการ
ความต้องการอื่นๆ ของประชาชนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้อง
- ร้อยละ 80 ต้องการให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้
- ต้องการให้มีมาตรการช่วยเหลือด้านรายได้ ลดรายจ่ายของประชาชน เช่น โครงการคนละครึ่ง การประกันรายได้เกษตรกร พืชผลการเกษตร ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น
- ต้องการให้ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจได้
ทั้งนี้ ด็อกเตอร์ นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการซูเปอร์โพล กล่าวว่า แม้อัตราการว่างงานของประเทศไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ซึ่งสูงกว่าประเทศรอบๆ บ้านไทย เช่น กัมพูชา ลาว และเมียนมา
แต่หากเปรียบเทียบกับข้อมูลที่หลากหลาย เช่น ธนาคารโลก กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เว็บไซต์เทรดดิ้งอิโคโนมิคส์ และสถิติต่างๆ จะพบว่ายังมีประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูงกว่าประเทศไทยอยู่จำนวนมาก เช่น
- ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 6.9
- อินโดนีเซีย ร้อยละ 6.49
- จีน ร้อยละ 4.9
- สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 4.6
- มาเลเซียร้อยละ 4.5
- เยอรมนี ร้อยละ 3.4
แสดงให้เห็นว่าการมีงานทำของคนไทยยังอยู่ในระดับที่สามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและยังสามารถควบคุมผลกระทบจากวิกฤติโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาได้
ฉะนั้นถ้าหากในช่วงเวลานี้ รัฐบาลมุ่งเน้นลงทุนปรับฐานโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านออนไลน์ให้ล้ำสมัย และประชาชนเข้าถึงได้ง่ายมากกว่าที่ผ่านมา โดยมีกฎหมายสนับสนุนส่งเสริมการทำงานของประชาชนผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเข้ากับยุคสมัยวิถีใหม่ (New Normal) ยิ่งจะทำให้อัตราการว่างงานลดลงไป และเพิ่มช่องทางเอื้อให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น
ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการปรับเปลี่ยนประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมอนาคตไปพร้อมกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews