"หมอธีระ" คาดเดา คุณสมบัติของ "โอไมครอน" พร้อมตอบข้อสงสัย

ยังคงเป็นที่จับตามองกับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" ที่ตอนนี้ได้ระบาดแล้วในหลายประเทศ โดย "หมอธีระ" คาดเดา คุณสมบัติของไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เผยถึง สถานการณ์โควิด-19 ว่า...
"คาดเดา"คุณสมบัติของ Omicron
ท่ามกลางความกังวลทั่วโลกเกี่ยวกับสายพันธุ์ B.1.1.529 หรือ Omicron ว่าจะทำให้เกิดการระบาดเร็ว กระจายเป็นวงกว้าง
คำถามในใจของทุกคนตอนนี้มี 3 คำถามหลักคือ
1. มันจะแพร่ไวขึ้น ติดง่ายขึ้นไหม
2. มันจะทำให้ป่วยรุนแรง และทำให้เสียชีวิตได้มากขึ้นหรือเปล่า
3. มันจะดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่เราใช้กันทั่วโลกตอนนี้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด
เรื่องของป่วยรุนแรงและเสียชีวิตนั้น คงต้องสังเกตจากการระบาดว่าเมื่อมีคนติดเชื้อมากขึ้นจะมีลักษณะการป่วยและอัตราการเสียชีวิตเป็นอย่างไร ด้วยข้อมูลที่แชร์จากแอฟริกาใต้ตอนนี้ยังมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่จำกัด จึงต้องใช้เวลาติดตามต่อไปอีกระยะ
แต่เรื่องสำคัญคือ การแพร่ การติด และการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน
Trevor Bedford จาก Fred Hutchison Cancer Research Center ที่อเมริกา และทีมงานซึ่งศึกษาด้านไวรัส ได้ทำการวิเคราะห์คาดเดาคุณสมบัติของ Omicron
จากข้อมูลของสายพันธุ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิม/บรรพบุรุษคือ อู่ฮั่น (ancestral) จนมาถึงสายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า แกมม่า เดลต้า และมิว จะพบว่ามีแนวโน้มที่จะเห็นความสัมพันธุ์ระหว่างศักยภาพในการแพร่เชื้อ (transmissibility) กับการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน
กล่าวคือ หากเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมาก อาจมีแนวโน้มที่จะมีศักยภาพในการแพร่เชื้อไม่มากนัก เช่น ที่เราเห็นจากสายพันธุ์เบต้า และมิว
ในขณะที่เดลต้านั้นแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นหลายเท่า แต่การดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนนั้นไม่มากนัก
ทั้งนี้หากดูจากตำแหน่งการกลายพันธุ์ของ Omicron ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50 ตำแหน่ง และมีการกลายพันธุ์ตรงส่วนหนามเปลือกนอกของไวรัสมากถึง 32 ตำแหน่ง จึงมีความเป็นไปได้ว่า Omicron น่าจะมีคุณสมบัติสูงในการดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่มี ในขณะที่มีการกลายพันธุ์ในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ส่วนหนามในจำนวนไม่มากนัก จึงคาดเดาว่าความสามารถในการแพร่หรือติดนั้นอาจไม่มากเท่าเดลต้า
อย่างไรก็ตาม การที่เห็นการแพร่กระจายของ Omicron ไปอย่างรวดเร็วจากทวีปแอฟริกาไปแทบทุกทวีปภายในเวลาไม่นานนั้น น่าจะเป็นไปได้ว่า เกิดจากการที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่น่าจะสูงกว่าสายพันธุ์อื่น ผนวกกับศักยภาพในการแพร่ของตัวเชื้อที่ไม่ได้ต่ำ ซึ่งอาจพอๆ กับสายพันธุ์อื่น ร่วมกับพฤติกรรมการติดต่อพบปะกันโดยไม่ได้ป้องกันตัว ทำให้สุดท้ายแล้วทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปได้เร็ว
ที่แลกเปลี่ยนมาทั้งหมดนั้นคงต้องรอติดตามดูงานวิจัยที่จะพิสูจน์ให้เห็นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ว่าจะเป็นไปตามที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสในต่างประเทศได้วิเคราะห์หรือไม่
ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด สิ่งที่คนไทยทุกคนควรทำคือ การติดตามความรู้ รับรู้และตระหนักถึงสถานการณ์รอบตัว และเตรียมพร้อม รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า
เหนือสิ่งอื่นใดคือ การป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า และเว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตรเสมอ
ใช้ชีวิตอย่างมีสติ เน้นความปลอดภัย ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงและสถานที่เสี่ยงต่างๆ
ด้วยรักและห่วงใย
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews

โพสต์ล่าสุด "ณิชา ณัฏฐณิชา" หนึ่งภาพล้านความรู้สึก คนให้กำลังใจแน่น

ดวงวันนี้ 13 เมษายน 2568 การเงิน การงาน จะเป็นอย่างไร วันนี้มีคำตอบ

เจ้าสาวช้ำ แม่หอบเงินสินสอด หนีไปกับเจ้าบ่าว ก่อนถึงพิธีแต่งงาน

งูดำเข้าบ้าน ขดตัวแน่น ก่อนค่อยๆ ชูคออยู่ซอกข้างเตียงนอน
