ข่าววันนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวทางการเยียวยานักร้อง นักดนตรี และผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เงินเยียวยาประกันสังคม ม.33 โดยมีแนวทางการช่วยเหลือแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มนายจ้าง
ให้ลงทะเบียนโครงการ SME (โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน) ที่จะได้รับเงิน 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง 1 คน เพื่อช่วยเหลือนายจ้างเป็นเวลา 2 เดือน โดยไม่มีภาษี
กลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม
ประกันสังคมจะเยียวยาว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจ่าย 50% ของ 15,000 บาท จ่ายสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และจ่ายอีก 5,000 บาท จากรัฐบาล (ม.33 เรารักกัน) โดยจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ก่อน หากได้รับการเยียวยาในลักษณะดังกล่าวเท่ากับว่าได้รับเงินเยียวยา 2 เด้น รวมจำนวนเงิน 12,500 บาท
กลุ่มลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม (ศิลปินอิสระที่ไม่มีเงินเดือน ไม่มีฐานข้อมูลในระบบประกันสังคม)
จะให้ลงทะเบียนเข้ามาตรา 40 ผ่านสมาคมคนบันเทิง สมาคมนักดนตรี สมาคมร้านอาหารที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ให้รับรองข้อมูลมาเพื่อเข้าสู่ระบบ โดยจะต้องนำเข้าเสนอต่อกระทรวงการคลังอีกครั้งเพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท เช่นเดียวกับผู้ประกันคมมาตรา 33 แต่จะได้แค่ขาเดียวเท่านั้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า กรณีผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี อาจไม่เข้าข่ายมาตรา 40 ของประกันสังคม จะประสานให้กระทรวงวัฒนธรรมสำรวจตัวเลขและเป็นผู้ดูแลเยียวยาต่อไป คล้ายๆ กับกรณีผู้ขับรถแท็กซี่ที่มีอายุเกิน 65 ปี ไม่เข้าข่ายมาตรา 40 ก็ได้ประสานให้กระทรวงคมนาคมเยียวยา สำหรับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การเยียวยาดังกล่าวนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองงบประมาณกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ และนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป คาดว่าจะสามารถจ่ายเยียวยาได้ในเดือน ธันวาคม นี้
ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบตัวเลขในระบบพบว่า ทั้งประเทศคาดว่าอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1.5 แสนราย ซึ่งจะต้องใช้เม็ดเงินกู้จากรัฐบาลเยียวยาประมาณ 750 ล้านบาท ส่วนผู้ที่เกินอายุเกิน 65 ปี ซึ่งไม่เข้าข่ายมาตรา 40 ของประกันสังคม จะประสานให้กระทรวงวัฒนธรรมสำรวจตัวเลขและเป็นผู้ดูแลเยียวยาต่อไป