เช็ก 4 ขั้นตอน ตรวจสอบ "หมายเรียก" จริงหรือปลอม ป้องกันมิจฉาชีพหลอกลวง

12 ธันวาคม 2564

ตำรวจสอบสวนกลาง เตือนภัย แนะวิธีเช็ก 4 ขั้นตอน ตรวจสอบ "หมายเรียก" ของจริงหรือปลอม ป้องกันพวกมิจฉาชีพหลอกลวง

เพจตำรวจสอบสวนกลาง เตือนภัยสังคมตามที่มีข่าวกระแสสังคม กลุ่มมิจฉาชีพ หลอกลวงประชาชน อ้างว่า เราเป็นหนี้บัตรเครดิตบ้าง ส่งของผิดกฎหมายบ้าง แล้วจะทำการโชว์บัตรตำรวจปลอม หรือโชว์หมายเรียกปลอมให้เราดู เพื่อข่มขู่ให้เรากลัว แล้วให้เราโอนเงินให้ หรือส่งข้อมูลส่วนตัวให้ “ตำรวจสอบสวนกลาง” จึงขอแนะนำขั้นตอนการตรวจสอบว่าหมายเรียกที่ท่านได้รับเป็นของจริงหรือของปลอม ดังนี้

เช็ก 4 ขั้นตอน ตรวจสอบ "หมายเรียก" จริงหรือปลอม ป้องกันมิจฉาชีพหลอกลวง

1. ตั้งสติ ไม่ต้องตกใจ เพราะหมายเรียกนั้นเป็นแค่การเรียกท่านไปพบพนักงานสอบสวน ยังไม่ได้หมายความว่าท่านเป็นผู้ต้องหา (ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา) แต่ถึงแม้ว่าท่านจะได้รับหมายเรียกในฐานะผู้ต้องหา ท่านก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธข้อกล่าวหาได้ เมื่อไปพบพนักงานสอบสวน 

2. ตรวจสอบหมายเรียกที่อยู่ในมือท่านว่ามีรายละเอียดครบถ้วนตามนี้หรือไม่
- สถานที่ออกหมาย, 
- วันที่ที่ออกหมาย, 
- ชื่อและที่อยู่ของพนักงานสอบสวนที่ออกหมาย, 
- สาเหตุที่เรียกไปพบ,  
- สถานที่และวันเวลาที่นัดหมายให้ไปพบ, 
- ลายมือชื่อพร้อมตำแหน่งของพนักงานสอบสวน (ป.วิ.อาญา ม.53)

เช็ก 4 ขั้นตอน ตรวจสอบ "หมายเรียก" จริงหรือปลอม ป้องกันมิจฉาชีพหลอกลวง

 

3. เพื่อให้มั่นใจว่า พนักงานสอบสวนที่อยู่ในหมายเรียกนั้นเป็นตำรวจจริง ให้ท่านติดต่อไปยังหน่วยงานต้นสังกัด เช่น สถานีตำรวจที่พนักงานสอบสวนประจำอยู่ เพื่อสอบถามว่ามีพนักงานสอบสวนคนนี้อยู่ที่สถานีตำรวจจริงหรือไม่ โดยสามารถค้นหาเบอร์สถานีตำรวจได้จาก https://www.royalthaipolice.go.th/station.php

4. หากทางสถานีตำรวจยืนยันว่ามีพนักงานสอบสวนที่ออกหมายเรียกปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานีตำรวจจริง ให้ขอเบอร์ติดต่อจากสถานีตำรวจนั้น เพื่อติดต่อไปตรวจสอบว่าพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกท่านไปจริงหรือไม่ ถ้าเป็นหมายเรียกจริง ก็พูดคุยเพื่อนัดหมายวันและเวลาที่จะเข้าไปพบพนักงานสอบสวนต่อไป

แต่หากพบว่าเป็นหมายเรียกปลอม ให้ท่านนำหมายเรียกปลอม ติดต่อเข้าแจ้งความสถานีตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่ที่ท่านได้รับหมายเรียกปลอมนั้น เพื่อดำเนินคดีกับมิจฉาชีพเกี่ยวกับ ”การใช้เอกสารราชการปลอม” ต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากท่านตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นหมายเรียกจริง แต่ไม่ยอมไปพบพนักงานสอบสวนตามวันและเวลาที่กำหนด กรณีเป็นหมายเรียกพยานอาจมีความผิดที่ไม่มาตามหมายเรียก แต่ในกรณีที่เป็นหมายเรียกผู้ต้องหาอาจเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนร้องขอต่อศาลเพื่ออนุมัติออกหมายจับต่อไปได้ (ป.วิอาญา ม. 66)

เช็ก 4 ขั้นตอน ตรวจสอบ "หมายเรียก" จริงหรือปลอม ป้องกันมิจฉาชีพหลอกลวง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews