รมว.คลัง มีคำสั่ง เพิกถอนใบอนุญาต "เดอะ วัน ประกันภัย"

13 ธันวาคม 2564

รมว.คลัง มีคำสั่ง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย "เดอะ วัน ประกันภัย" แล้ว มีผลวันนี้ 13 ธันวาคม 2564

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 2423/2564 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

รมว.คลัง มีคำสั่ง เพิกถอนใบอนุญาต เดอะ วัน ประกันภัย

การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยครั้งนี้ เป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะคุ้มครองสิทธิประโยชน์    ของประชาชน โดยสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ ภายใต้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ พร้อมทั้ง ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเหตุประกอบการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับมิให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเดือดร้อน ดังนี้

1. ตามที่ปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะการเงินไม่มั่นคงโดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และปรากฏว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งปรากฏหลักฐาน ว่าบริษัทไม่มีเจตนาที่จะแก้ไขฐานะการเงินของบริษัท ทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ตามภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้ มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า อันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศฯ การประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนฯ และยังคงมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนคงค้างจำนวนมาก  

 

รวมทั้งมีการปิดทำการโดยไม่มีเหตุผลและไม่ได้ขออนุญาตจากนายทะเบียนจึงเป็นกรณีที่บริษัทมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน เป็นเหตุให้นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของบอร์ด คปภ. มีคำสั่งตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และแก้ไขฐานะและการดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนด

2. สำนักงาน คปภ. ได้เข้าควบคุมธุรกรรมการเงินเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระหว่างที่มีคำสั่งดังกล่าว จะไม่มีการโยกย้ายทรัพย์สิน หรือมีการกระทำใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเร่งรัดให้บริษัท จ่ายค่าสินไหมฯ เป็นผลให้ตั้งแต่วันที่ 2-13 ธันวาคม 2564 สามารถเร่งเคลียร์ค่าสินไหมทดแทนและคืนเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยได้กว่า 31,201 ราย เป็นเงินกว่า 109.22 ล้านบาท โดยก่อนมีคำสั่งฯ ตามมาตรา 52 สามารถเร่งบริษัทให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยได้กว่า 29,000 ราย รวมถึงกรณีร้องเรียน ณ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 สามารถเคลียร์  ได้ 3,856 เรื่อง รวมเป็นเงิน 2,435 ล้านบาท

3. ต่อมาปรากฏพยานหลักฐานว่าบริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนด หากรอให้ครบกำหนดเวลาที่กำหนด อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน สำนักงาน คปภ. โดยมติบอร์ด คปภ. ครั้งที่ 14/2564 จึงได้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณามีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) 

4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังตามมาตรา 27/4 ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคงและไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการกระทำ  ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายประการ กรณีจึงเห็นได้ว่าบริษัทไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัย และประกอบธุรกิจประกันภัยได้ต่อไป ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5)  แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป โดยหากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ มีสิทธิเสนอคำฟ้องยื่นต่อศาลปกครองกลางภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง

5. เมื่อรัฐมนตรีฯ มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยบริษัทแล้ว บอร์ด คปภ. ได้อาศัยอำนาจ ตามความในมาตรา 60 และมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ แต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี

รมว.คลัง มีคำสั่ง เพิกถอนใบอนุญาต เดอะ วัน ประกันภัย

6. การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยบริษัทในครั้งนี้ เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายใน  ของบริษัท  เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวม ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย เพื่อรองรับมิให้ผู้เอาประกันภัยได้รับผลกระทบไว้แล้ว ดังนี้

   6.1 บูรณาการความร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) และบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 13 บริษัท  บริษัทประกันชีวิต จำนวน 8 บริษัท ดังนี้

     (1) ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายและได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับบริษัทแล้ว สามารถติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อขอรับชำระหนี้โดยกองทุนประกันภัยวินาศภัยจะเข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้มีการอนุมัติค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว   
     (2) ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับบริษัท สามารถยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย

     (3) ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภทของบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) สามารถที่จะดำเนินการในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ดังนี้

         - ขอรับคืนเบี้ยประกันภัยที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะคืนเบี้ยประกันภัย  ให้ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่  หรือ

         - นำเบี้ยประกันภัยที่จะได้รับคืนไปใช้แทนเงินสดในการเลือกซื้อประกันภัยได้จากบริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิตที่เข้าร่วมโครงการ ได้ทุกประเภทกรมธรรม์ประกันภัย

     (4) ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถนำเบี้ยประกันภัยไปซื้อความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะให้ความคุ้มครองเฉพาะภาวะโคม่า ในวงเงินความคุ้มครอง 300,000 บาท เบี้ยประกันภัย 300 บาท หรือนำเบี้ยประกันภัยไปซื้อความคุ้มครองกับบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัทประกันชีวิตที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะได้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยเพิ่มอีก 10% ของกรมธรรม์ใหม่ แต่ไม่เกิน 500 บาท ยกเว้นกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)  และกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) 

   6.2 สำนักงาน คปภ. ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งที่สำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและสำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง 

   6.3 มีการจัดเตรียมสถานที่ที่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่

     (1) กองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 15 เลขที่ 1010 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2791-1444 ต่อ 26-30

     (2) สำนักงาน คปภ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากกองทุนประกันวินาศภัยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการรับเอกสารหลักฐานการขอรับชำระหนี้แล้วส่งต่อให้กองทุนประกันวินาศภัยต่อไป โดยผู้เอาประกันภัยสามารถยื่นได้ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด ดังนี้
ส่วนกลาง ยื่นได้ ๓ แห่ง ดังนี้

         - สำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร. 0-2515-3999 หรือ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ chatbot “คปภ. รอบรู้” (LINE@OICConnect)

         -  สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2476-9940-3

         - สำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2361-3769-70 ส่วนภูมิภาค สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ได้ที่สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ

   6.4 สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนา Web Application โดยเฉพาะขึ้น เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้เอาประกันภัยของบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้รวดเร็วขึ้น โดยระบบจะแจ้งข้อมูลไปยังผู้เอาประกันภัยทางออนไลน์ 

   6.5 สำนักงาน คปภ. มีการบูรณาการความร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยจัดเตรียมหมายเลขโทรศัพท์รวม 125 คู่สายทั่วประเทศ เพื่อตอบข้อซักถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

ทั้งนี้ หากเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชี ของบริษัท ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ 1) กรมธรรม์ประกันภัย 2) บัตรประจำตัวประชาชน 3) ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใด ที่แสดงถึงมูลหนี้ 4) หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) และหากเป็นเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้นำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ 1) หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ 2) บัตรประจำตัวประชาชน และ 3) หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)

ทั้งนี้ หากเจ้าหนี้ไม่สามารถยื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจโดยติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทฯ 

“แม้จากการกำกับ ติดตามก่อนมีคำสั่งฯ ตามมาตรา 52 และการเข้าควบคุมตามคำสั่งฯ มาตรา 52 จะทำให้สำนักงาน คปภ. สามารถช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย โดยเร่งให้บริษัทจ่ายสินไหมฯ และคืนเบี้ยประกันภัยรวม 60,201 ราย เป็นเงินรวม 2,544.22 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินของบริษัทยังไม่เพียงพอที่จะจ่ายเคลมที่ทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ โดยที่บริษัทไม่สามารถแก้ไขปัญหาฐานะการเงินได้ จึงจำเป็น   อย่างยิ่งที่จะต้องมีการเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมาย เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและเพื่อให้กองทุนประกันวินาศภัย   เข้ามาดูแลการชำระหนี้ตามสัญญาประกันภัย ในการนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กำชับให้ดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อมิให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยเดือดร้อน โดยสำนักงาน คปภ. จะบูรณาการร่วมกับกองทุนฯ สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ช่วยบรรเทา เยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่ รวมทั้งจะบูรณาการกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของกรรมการและผู้บริหารบริษัท หากพบว่ามีความผิด จะบังคับมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด สำหรับรายชื่อบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ สามารถดูได้จากเว็บไซต์สำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) หรือสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Line Chatbot@Oicconnect ข้อมูลอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews