จากกรณีเมื่อช่วงวันที่ 28 ธ.ค. 64 ในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์เรื่องราวของคน จ.จันทบุรี ได้เกิดอาการท้องเสียพร้อมกันเกือบทั้งจังหวัด และนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวจันทบุรีกลับมาก็ท้องเสียเหมือนกัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 64 ทางด้าน ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Opass Putcharoen ถึงผลการตรวจอุจจาระของผู้ป่วยท้องเสียที่ จ.จันทบุรี โดยระบุว่า
"ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก ตรวจอุจจาระของคนที่มีอาการท้องเสียระบาดใหญ่ที่จันทบุรี ผลเป็น Norovirus Genogroup II จำนวน 6 ราย จาก 8 ราย อาการคลื่นไส้อาเจียนจะเด่น ท้องเสียจะเกิดขึ้นเร็ว รุนแรงในบางราย หายเองภายในประมาณสองวัน ผู้สูงอายุอาจจะมีอาการมากและรุนแรง
โรคนี้ติดติดง่าย จำนวนเชื้อน้อยๆก็ทำให้เกิดอาการท้องเสียที่รุนแรงได้ ติดทางการกิน สัมผัส เชื้ออาจจะอยู่ตามสิ่งแวดล้อม แนะนำล้างมือด้วยสบู่ เชื้อฟุ้งกระจายในอากาศได้ แอลกอฮอล์ไม่สามารถทำลายเชื้อได้นะครับ ใครกลับบ้านช่วงปีใหม่แถวนั้น ก็ระวังเรื่องอาหารการกิน ล้างมือด้วยน้ำสบู่ (ดีกับทั้งโรคท้องเสียกับโควิด)"
สำหรับ โนโรไวรัส ทางด้านกรมควบคุมโรค ได้ให้ข้อมูลว่า เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ซึ่งไวรัสชนิดนี้ไม่ใช่ไวรัสตัวใหม่ พบการระบาดเป็นระยะๆในช่วงฤดูหนาว ติดต่อกันได้โดยการกินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก รวมทั้งสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง สัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้ออยู่ เช่น อาเจียน หรืออุจจาระของผู้ป่วย แล้วนำนิ้วเข้าปากโดยเฉพาะในเด็ก จึงสามารถเกิดการระบาดได้ง่ายในกลุ่มเด็กตามโรงเรียน ส่วนผู้ใหญ่มักไม่แสดงอาการ บางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย
โนโรไวรัส ก่อให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง อาจมีไข้ต่ำ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกเพศทุกวัย มีระยะฟักตัวระหว่าง 12-48 ชั่วโมง เฉลี่ยประมาณ 1 วันจะเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อ
ลักษณะอาการเด่น คือ ท้องเสียและอาเจียน โดยปกติผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะในเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุอาจก่อให้เกิดการขาดน้ำได้ ดังนั้นควรดื่มน้ำเกลือแร่โออาร์เอส เพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่ หากรักษาเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาอย่างใกล้ชิดทันที ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะในการกำจัดเชื้อไวรัสนี้ จะรักษาตามอาการ และยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส
ขอบคุณ FB : Opass Putcharoen , สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น