สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยยังคงต้องจับตาอย่างหนักโดยรายงานวันนี้ 3 ม.ค. 65 ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 2,927 ราย ผู้หายป่วยวันนี้ 2,903 ราย ผู้เสียชีวิต 18 ราย
โดยเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 65 ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดขอนแก่น ผู้อำนวยการศูนย์บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดขอนแก่น ลงนามในประกาศจังหวัดขอนแก่น เรื่อง มาตรการ การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID) จังหวัดขอนแก่น (ฉบับที่ 60)
ตามที่จังหวัดขอนแก่นได้ออกประกาศมาตรการ การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 58 โดยได้มีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID) ตามประกาศจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 59 เพื่อควบคุม ป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประชาชนได้รวมกลุ่มจัดงานตามประเพณีท้องถิ่น งานทางศาสนาและงานรื่นเริงตามประเพณีไปแล้วนั้น
เนื่องจากตามรายงานการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประชาชนที่มีอาการสงสัยและกลุ่มเสี่ยงในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จากห้องปฏิบัติการ (Lab) เมื่อคืนวันที่ 1 ม.ค. 2565 ตรวจพบผลเป็นบวก (Positive) จำนวน 232 ราย เป็นการติดเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเวลาก่อนเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับรายงานทางวิชาการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กลายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้ง่าย
โดยเฉพาะการรวมกลุ่มหรือการจัดกิจกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ตามที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด การไม่สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ร่วมกัน การไม่จัดหรืออำนวยความสะดวกในการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล (Distancing) อย่างน้อยหนึ่งเมตรและจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัดในพื้นที่ปิดขนาด 5 ตารางเมตรต่อคน ในพื้นที่เปิดขนาด 4 ตารางเมตรต่อคน การล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกครั้งที่มีการสัมผัสสิ่งของที่อยู่นอกตัวหรือในที่สาธารณะ เป็นต้น
ทำให้การแพร่เชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อยับยั้ง ป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หลังการรวมกลุ่มหรือการจัดกิจกรรมตามประเพณีหลังเทศกาลปีใหม่ เพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกระจายไปจนไม่อาจควบคุมป้องกันได้ จึงเห็นควรกำหนดมาตรการเท่าที่จำเป็น เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่น จะได้กลับมาดำรงชีวิตตามปกติโดยเร็ว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 (1) (7) มาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563 ข้อ 7 (1) ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดขอนแก่น ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 14/2565 เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2565 จึงออกคำสั่งไว้ ดังนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกมาตรการในข้อ 4 ก. แห่งประกาศจังหวัดขอนแก่น เรื่อง มาตรการ การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID) จังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ (58) โดยให้ใช้มาตรการดังต่อไปนี้แทน
“ก.ให้ปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษาในทุกระดับและทุกสังกัด และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งและทุกสังกัด โดยให้จัดการเรียนการสอนตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด (On Line) งดจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน (On Site) เว้นแต่เป็นสถานศึกษาที่ดูแลเด็กพิเศษ และ/หรือมีลักษณะเป็นที่พักประจำให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ แต่ห้ามนักเรียนออกนอกสถานศึกษาและห้ามผู้ปกครองหรือบุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมในสถานศึกษา ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 14 ม.ค. 2565”
ข้อ 2.ให้หน่วยงานราชการ โดยหัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ประเมินและพิจารณากำหนดการปฏิบัติงานนอกสถานที่ของหน่วยงาน (WORK FROM HOME) ตามระเบียบของทางราชการเต็มอัตราความจำเป็น โดยทั้งนี้ต้องพิจารณาความจำเป็นตามภารกิจความรับผิดชอบ ไม่ให้เสียหายแก่ราชการและกระทบต่อการให้บริการประชาชน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 14 ม.ค. 2565
ข้อ 3.ขอความร่วมมือภาคเอกชนพิจารณาดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งสถานประกอบการ ร้านค้าและสถานที่อื่นๆ (WORK FROM HOME) เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่น การสลับวันทำงาน หรือวิธีการอื่นใด เพื่อลดการสัมผัสหรือการรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 14 ม.ค. 2565
ข้อ 4.ให้งดจัดกิจกรรมวันเด็กประจำปี 2565 (วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม 2565)
ข้อ 5.ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานราชการทุกแห่งทำการตรวจหรือสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในทางเดินหายใจ (ATK) ให้แก่เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะรายที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มเข้าปฏิบัติงานที่หน่วยงาน หากพบผลเป็นบวก (Positive) ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ทันที
สำหรับหน่วยงานภาคเอกชน สถานประกอบการ ขอความร่วมมือให้ทำการตรวจหรือสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในทางเดินหายใจ (ATK) ให้แก่พนักงานโดยเฉพาะรายที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อพนักงานเริ่มเข้าปฏิบัติงาน หากพบผลเป็นบวก (Positive) ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ทันที
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งในประกาศนี้ ข้อ 1 มีความผิดตามมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดตามมาตรา 35 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งในประกาศนี้ ข้อ 4 มีความผิดตามมาตรา 34 และตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2565