จากกรณีเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 65 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน ในประเทศไทยว่า ตั้งแต่เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 - 3 ม.ค. 2565 พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน 2,062 ราย โดยเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 65 พบเพิ่มขึ้น 282 ราย เป็นการพบผู้ติดเชื้อครบในทุกเขตสุขภาพ กระจายไปแล้วใน 54 จังหวัด โดยส่วนใหญ่หายแล้ว ที่เหลือเกือบทั้งหมดอยู่ในสถานพยาบาล สูงสุด 6 อันดับแรกคือ
1. กทม. 585 ราย (7 รายติดเชื้อในประเทศ)
2. กาฬสินธุ์ 233 ราย (ติดเชื้อในประเทศ 231 ราย)
3. ร้อยเอ็ด 180 ราย (ติดเชื้อในประเทศ 180 ราย)
4. ภูเก็ต 175 ราย (ติดเชื้อในประเทศ 17 ราย)
5. ชลบุรี 162 ราย (ติดเชื้อในประเทศ 70 ราย)
6. สมุทรปราการ 106 ราย (ติดเชื้อในประเทศ 28 ราย)
นพ.ศุภกิจ ยังกล่าวต่อว่า มีการศึกษาที่น่าสนใจ ในประเทศแอฟริกาใต้ มีการทดสอบภูมิคุ้มกันหลังคนติดเชื้อโอไมครอน 14 วัน พบว่าภูมิคุ้มกันสูงขึ้น 14 - 15 เท่า ซึ่งเป็นปกติของการติดเชื้อ และยังมีข้อสังเกตว่าหลังติดเชื้อโอไมครอน แล้วภูมิป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ประมาณ 4 เท่า แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อทุกคน
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนที่ฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน หลังติดเชื้อโอไมครอน 14 วัน มีภูมิป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้จำนวนหนึ่ง ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังรวบรวมข้อมูลจากผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทย ว่าสามารถจัดการเชื้อเดลตาได้ดีมากแค่ไหน ซึ่งถ้าหากเป็นเรื่องจริง ทำให้มีสัญญาณที่ดีว่า การติดเชื้อของโอไมครอนไม่ได้มีผลร้ายเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่เมื่อติดแล้ว ยังสามารถจัดการกับเดลตาได้อีกด้วย
นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจ ยังระบุอีกว่า การแพร่ระบาดของโอไมครอนจะเริ่มส่งผลให้จำนวนการติดเชื้อในภาพรวมมากขึ้น ยังไม่ส่งผลต่อจำนวนการเสียชีวิต, การติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ยังเป็นสายพันธุ์เดลต้าส่วนใหญ่ 70-80% ดังนั้น ต้องระวังกลุ่ม 608 ให้มากจะมีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิต, การตรวจสายพันธุ์จะเริ่มใช้ระบบเฝ้าระวังตามเกณฑ์ เพื่อประเมินสถานการณ์ ไม่ตรวจทุกราย, มีข้อมูลการศึกษาว่าผู้ติดเชื้อบางส่วนที่ติดเชื้อโอไมครอน จะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์สายพันธุ์เดลต้าได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน