เรียกได้ว่าพึ่งเริ่มขึ้นปีใหม่ 2565 แต่ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลา ยื่นภาษี 2564 ที่เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว สำหรับผู้มีเงินได้ในปีภาษี 2564 สามารถ ยื่นภาษี ผ่านช่องทางออนไลน์ ระบบ E-Filing เว็บไซต์กรมสรรพากร ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 8 เม.ย. 2565
โดยปีภาษี 2564 ผู้มีเงินได้ที่เคยได้รับเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง ในเฟสต่างๆ มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อาจกำลังสับสนว่าเงินส่วนนี้ถูกคิดเป็น "เงินได้พึงประเมิน" ที่ต้องนำไปยื่นภาษีหรือต้องนำไปคำนวณเพื่อ "เสียภาษี" ด้วยหรือไม่
ข่าวล่าสุดวันนี้ทีมข่าวไทยนิวส์ได้รวบรวมข้อมูลจากกรมสรรพากรในประเด็นดังกล่าว พร้อมสรุปได้ดังนี้
- ได้รับสิทธิ "คนละครึ่ง" ไม่ต้อง "เสียภาษี"
ตามข้อมูลจาก กรมสรรพากร อ้างอิงตามกฎกระทรวง 368 (พ.ศ.2563) ระบุว่า สําหรับผู้ที่ได้รับสิทธิคนละครึ่งไม่ว่าจะเฟสใด จะไม่สามารถใช้สิทธิ "ช้อปดีมีคืน" และส่วนลด หรือรายได้ส่วนที่ได้จากโครงการ "คนละครึ่ง" ที่ประชาชนผู้ซื้อได้รับจากรัฐให้ถือเป็นรายได้ที่ต้องนําไปรวมคํานวณเสียภาษีเงินได้
ซึ่งคณะรัฐมนตรี และกระทรวงการคลังเห็นชอบให้ยกเว้นภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา สําหรับประชาชนที่ได้รับเงินจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล โดยกรมสรรพากร อยู่ระหว่างร่างกฎหมายเสนอต่อไป ซึ่งจะมีการยกเว้นภาษีสําหรับเงินที่ได้รับ ในปีภาษี 2563 ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ในปี 2564 และเงินได้ที่ได้รับในปีภาษี 2564 ซึ่ง ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีในปี 2565
-แฟนคลับช็อก "แด๊กซ์ ร็อกไรเดอร์" ติดโควิด พร้อมแจ้งไทม์ไลน์อย่างละเอียด
-"หัวหน้ามนตรี" หลังก่อเหตุบุกห้องลูกบ้าน ส่งข้อความหา รปภ.ป้อมหน้าคอนโด
-สุดอาลัย คิมมีซู นักแสดงสาวจากซีรีส์ Snowdrop เสียชีวิตกะทันหันในวัย 31 ปี
- พ่อค้าแม่ค้า เข้าโครงการคนละครึ่ง ยอดขายถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี
สําหรับพ่อค้าแม่ค้า ที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งจะต้องมีภาระภาษี โดย "รายได้จากการขาย" คือ ยอดขายปกติ และ "ยอดขายคนละครึ่ง" ซึ่งหมายถึง ยอดขายทั้งส่วนที่ได้รับ จากลูกค้าและส่วนที่ได้รับจากรัฐ รายได้ดังกล่าว ถือเป็น "เงินได้พึงประเมิน" ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
หากมี "รายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นภาษี" ทั้งแบบ ภ.ง.ด.94 ยื่นภายในเดือนกันยายน และแบบ ภ.ง.ด.90 ยื่นภายในเดือนมีนาคม ปีถัดไป ซึ่งเกณฑ์ ที่ต้องเสียภาษีคือ คนโสดมีรายได้เกิน 60,000 บาท ต่อปี คนมีคู่สมรส ไม่ว่าจะมีรายได้ฝ่ายเดียวหรือ ทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 120,000 บาท
ผู้มีเงินได้ตามข้างต้นสามารถ "หักค่าใช้จ่าย" ตามความเป็นจริง (ต้องมีเอกสาร หลักฐานค่าใช้จ่าย) หรือหักเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60 และหักค่าลดหย่อนได้ตามที่กฎหมายกําหนด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พ่อค้า แม่ค้า ต้องระวังคือ หากมีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนําส่งให้กรมสรรพากร โดยต้องจัดทํารายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ เพื่อยื่นแบบ ภ.พ.30 นําส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน และชําระเงินภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปด้วย
ข้อมูลจาก กรมสรรพากร