จากกรณีเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศ ขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 2 เดือน เหตุโอไมครอนยังระบาดหนัก โดยได้ออกประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 16)
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 15 ออกไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2565 นั้น โดยที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ระบาดอย่างรุนแรงอีกรอบหนึ่งอันเป็นผลจากการที่ไวรัสดังกล่าวได้เกิดกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่มีการกลายพันธุ์ของโปรตีนบนส่วนหนามของไวรัสหลายตำแหน่ง ทำให้สามารถจับยึดเซลล์ของมนุษย์ได้มากขึ้น ทำให้เกิดการระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว
ถึงแม้ประชากรส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนเบื้องต้นโดยครอบคลุมกลุ่มประชากรในประเทศตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดแล้ว แต่ผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ยังมีจำนวนไม่มากแม้รัฐบาลจะได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนดังกล่าวแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบสาธารณสุขและต่อสุขภาพอนามัยและชีวิตของประชาชนหากเกิดการระบาดรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ ปรากฏปัญหาการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในบริเวณพื้นที่ชายแดนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้านและสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ยังเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง
ต่อการแพร่ระบาดของโรคในประเทศอีกด้วย กรณีจึงจ าเป็นที่จะต้องคงไว้ซึ่งมาตรการในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเพื่อธำรงไว้ซึ่งสุขภาพอนามัย ชีวิตประชาชน และความมั่นคงทางสาธารณสุขของชาติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565 จึงให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565
ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
ขอบคุณ ราชกิจจานุเบกษา