เริ่มแล้ววันนี้ เคาะขยายเวลาลดเงินสมทบ "ผู้ประกันตนม.40" อีก 6 เดือน 1 ก.พ. 2565 มีรายงานว่า ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาการลดอัตราเงินสมทบของ "ผู้ประกันตนมาตรา 40" ที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 - 31 กรกฎาคม 2565 โดยมีอัตราส่งเงินสมทบภายหลังปรับลดทั้ง 3 ทางเลือก ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 ลดเงินสมทบเหลือ 42 บาท จากเดิม 70 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 3 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต
ทางเลือกที่ 2 ลดเงินสมทบเหลือ 60 บาท จากเดิม 100 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 4 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ
ทางเลือกที่ 3 ลดเงินสมทบเหลือ 180 บาท จากเดิม 300 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 5 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยต่อว่า แม้การลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 40 เป็นเวลา 6 เดือน จะทำให้กองทุนประกันสังคมได้รับเงินสมทบลดลง แต่กองทุนประกันสังคมยังคงมีเงินสมทบเพียงพอ สำหรับรายจ่ายประโยชน์ทดแทนให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะกองทุนในระยะยาว อีกทั้ง การปรับลดเงินสมทบดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประกันตนมีกำลังซื้อมากขึ้น อันจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย
สำหรับ ประกันสังคม "ผู้ประกันตนมาตรา 33" ยังคงจ่ายเท่าเดิม ดังนี้
เงินเดือน 10,000 บาท นำส่งประกันสังคม 10,000 x 5% เท่ากับ 500 บาท
เงินเดือน 15,000 บาท นำส่งประกันสังคม 15,000 x 5% เท่ากับ 750 บาท
เงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท รายงานตัวเลขเงินเดือนตามจริง อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมจะคำนวณเงินสมทบฐานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท หากเงินเดือนมากกว่าจำนวนดังกล่าวก็จะถูกหักนำส่งประกันสังคมเท่ากับ 750 บาท ซึ่งเป็นอัตราเพดานสูงสุด
นายจ้างอย่าลืม : นายจ้างและลูกจ้าง จะต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราที่เท่ากัน คือ ร้อยละ 5 ต่อเดือน โดยการคำนวณเงินสมทบ จะคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท สูงสุดเดือนละ 15,000 บาท
หากค่าจ้างไม่ถึง 1,650 บาท ให้คำนวณจากฐานค่าจ้าง 1,650 บาท และหากค่าจ้างเกินกว่า 15,000 บาท ให้คำนวณจากฐานค่าจ้าง 15,000 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สายด่วน 24 ชั่วโมง โทร.1506 หรือเว็บไซต์ ประกันสังคม