ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค ได้เผยผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ถึงเรื่อง ผลการทดสอบติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในมนุษย์ โดยระบุว่า
งานวิจัยทดสอบการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ในอาสาสมัครมนุษย์ที่ดำเนินการในประเทศอังกฤษได้รายงานผลเพื่อพิจารณาเพื่อการตีพิมพ์แล้ว นับว่าเป็นการทดลองที่มีการพูดถึงกันเป็นวงกว้างถึงเรื่องความเหมาะสมในการใช้มนุษย์เป็นโมเดลในการศึกษา แต่ข้อมูลที่ได้จากการศึกษานี้ทำให้เราเข้าใจกลไกการก่อโรคโควิด-19 ของไวรัส SARS-CoV-2 ได้ชัดเจนมาก เพราะมีการควบคุมตัวแปรต่างๆอย่างดี ตัวเลขที่ได้มาจึงนับว่าน่าเชื่อถือและมีการรบกวนจากตัวแปรอื่นๆน้อยกว่าการเก็บตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อโดยธรรมชาติ
งานวิจัยนี้ใช้ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ SARS-CoV-2/human/GBR/484861/2020 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ G ก่อนการระบาดของสายพันธุ์อัลฟ่า ทำการหยอดจมูกให้กับอาสาสมัครที่ไม่มีเคยมีภูมิคุ้มกันจากไวรัส หรือ วัคซีน จำนวน 36 คน โดยใช้ไวรัสปริมาณ 10TCID50 หรือ เทียบเท่ากับ 55 อนุภาคไวรัสที่ติดเชื้อได้ ปรากฏว่ามีอาสาสมัครจำนวน 18 คนที่ได้รับเชื้อและตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นจำนวน 53% ของอาสาสมัครที่ทำการทดสอบ ซึ่งถือว่าปริมาณไวรัสที่ใช้น้อยมาก และ มากเพียงพอที่ทำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของอาสาสมัครติดเชื้อ
เมื่อทำการติดตามอาสาสมัครที่ติดเชื้อพบว่า สามารถตรวจพบเชื้อได้ในลำคอเป็นที่แรก ภายในเวลา 40 ชั่วโมง หรือ 1.67 วันหลังได้รับเชื้อ ซึ่งเร็วกว่าการตรวจพบในจมูกที่เวลา 58 ชั่วโมง หรือ หรือ 2.4 วัน หลังจากนั้นพบว่าปริมาณไวรัสจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยจุดสูงสุดของปริมาณไวรัสในลำคอคือที่ 112 ชั่วโมง หรือ 4.7 วัน หลังรับเชื้อ และ ที่ 148 ชั่วโมง หรือ 6.2 วันในจมูก แต่ถ้าเปรียบเทียบปริมาณไวรัสที่จุดสูงสุด ในจมูกจะมีมากกว่าในคอประมาณ 10 เท่า จากข้อมูลนี้เหมือนตัวอย่างจากคอ หรือ น้ำลายน่าจะพบไวรัสได้ก่อนจากจมูก แต่ถ้าหลังจากติดเชื้อมาสักพักตัวอย่างจากจมูกมีโอกาสพบเชื้อได้เยอะกว่า
อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ การตรวจ ATK ถึงแม้ว่าจะสามารถทำ PCR จากตัวอย่างในคอได้ตั้งแต่ 2 วันหลังรับเชื้อ แต่ ATK จะตรวจได้ผลบวกที่ช้ากว่าโดยเฉลี่ยจะได้ผลบวก ATK ที่ 4 วันหลังได้รับเชื้อ (บางคนพบผลบวกไวที่ 2 วัน บางคนพบที่ 8 วัน) แต่ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ตัวอย่างจากคอและจมูกจะสามารถตรวจพบ ATK เป็นบวกได้พอๆกัน ทีมวิจัยยังระบุว่า RT-PCR จะตรวจพบได้ก่อน ATK ประมาณ 24-48 ชั่วโมง แต่ ความสามารถในการเพาะเชื้อไวรัสจากอาสาสมัครจะทำได้ก่อน ATKเป็นบวก ประมาณ 24 ชั่วโมง หมายความว่า โอกาสแพร่เชื้อก่อน ATK ตรวจพบจะประมาณ 1 วัน และ ยังพบว่า ATK จะเป็นลบ หลังจากเชื้อไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้แล้วที่ 24-72 ชั่วโมง นั่นก็บอกว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่ ATK เป็นลบ โอกาสแพร่เชื้อต่อก็จะน้อยมาก อาจไม่เกิดขึ้นแล้ว
จริงๆยังมีข้อมูลอีกมาก เช่นการสร้างแอนติบอดี และ อาการของโรค ตลอดจนการตอบสนองต่อยาต้านไวรัส ซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านต่อได้ที่ link ข้างล่าง
https://www.researchsquare.com/article/rs-1121993/v1
ปล: ข้อมูลนี้มาจากไวรัสสายพันธุ์เก่า สำหรับไวรัสโอมิครอนที่ติดไวกว่าตัวเลขอาจจะต้องปรับให้เข้ากับคุณสมบัติของไวรัสด้วย
ขอบคุณ Anan Jongkaewwattana