กรณีข่าวไส้กรอกมรณะทำเด็กป่วย เหตุ สารไนไทรต์เกินปริมาณที่กำหนด ทาง อย. จับมือ สสจ. ทั่วประเทศตรวจสอบสถานที่ผลิต จำหน่ายไส้กรอก และเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์แล้ว อยู่ระหว่างรอผล เตือน ผู้ผลิตขออนุญาตให้ถูกต้อง เข้มงวดกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภคขอให้ระมัดระวัง เลือกซื้อจากหลักแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีเครื่องหมาย อย.
ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากผลการตรวจสอบกรณีมีผู้ป่วยจากการรับประทานไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อนในจังหวัดชลบุรี ซึ่งผลวิเคราะห์จากตัวอย่างไส้กรอกที่ผู้ป่วยรับประทานทั้ง 4 ยี่ห้อ พบว่ามีปริมาณไนไทรต์เกินจากที่กฎหมายกำหนดถึง 35-48 เท่า จัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดี และจากข้อมูลข้างต้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศร่วมเฝ้าระวังในพื้นที่ โดยมีการตรวจสอบสถานที่ผลิต สถานที่จำหน่าย และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบขณะนี้มีจังหวัดที่ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายในท้องตลาดเสร็จแล้ว 66 จังหวัด มีการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่มีความเสี่ยงส่งตรวจวิเคราะห์ 102 ตัวอย่าง (อยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์)
มีการดำเนินคดีกรณีจำหน่ายไส้กรอกที่ไม่มีฉลากแสดง คือที่ จ.สระบุรี จ.อุทัยธานี และ จ.อยุธยา ซึ่งกรณีของ จ.สระบุรี ตรวจพบเป็นไส้กรอกที่รับมาจากสถานที่ผลิตเถื่อนในจังหวัดชลบุรี ส่วนของ จ.อุทัยธานี ตรวจสอบพบมีสินค้าที่ฉลากเหมือนกับที่เจอใน จ.อยุธยา ด้วย เป็นเหตุให้มีการขยายผลดำเนินการจับกุมโรงงานลักลอบผลิตไส้กรอกโดยไม่ขออนุญาตที่ จ.อยุธยาอีก 2 แห่ง กรณีนี้มีการอายัดสถานที่และของกลางมูลค่ารวมกว่า 4.3 ล้านบาท
โดยตรวจจับและดำเนินคดีกับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่มี อย. จำนวน 13 รายการ คือ
1.ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ตรา เคน หมูชีส (มีเปลือก)
2.ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป KC คอกเทลรมควันไก่ (มีเปลือก)
3.ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป KC คอกเทลรมควันหมู (มีเปลือก)
4.Super-Rich ไส้กรอกชีสนม (มีเปลือก)
5.Super-Rich คอกเทลรมควัน (มีเปลือก)
6.Super-Zaab ไส้กรอกแฟร้งไก่ (มีเปลือก)
7.เคนจิ ฟุตลองชีส (มีเปลือก)
8.เคนจิ ฟุตลองรมควันหมู (มีเปลือก)
9.ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป KC
10.KC หมูยออุบล
11.ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ตรา FC จัมโบ้คลาสิค (มีเปลือก)
12.ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ตรา ริช ไส้กรอกรมควัน (มีเปลือก)
13.ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ไส้กรอก ไม่มีฉลาก
นอกจากนี้สสจ.ทุกจังหวัดได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการเพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการผลิตโดยเฉพาะขั้นตอนการเติมวัตถุกันเสีย และกรณีสำนักงานอาหารและยา FDA กระทรวงสาธารณสุขพม่า ได้เตือนประชาชนห้ามรับประทานไส้กรอกจากประเทศไทยยี่ห้อ “ฤทธิ์” นั้น อย.ได้ขอความร่วมมือ ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ติดชายแดนเพิ่มการเฝ้าระวังแหล่งจำหน่ายในตลาดชายแดน และเพิ่มการแจ้งเตือนภัยผู้บริโภคให้ครอบคลุมมากขึ้น
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเตือนให้ผู้ผลิตไส้กรอกต้องขออนุญาตสถานที่ผลิตให้ถูกต้อง เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐาน GMP และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภคควรเลือกซื้อไส้กรอกที่มีเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. มีชื่ออาหาร ขื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน
ส่วนประกอบและข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ ซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และหากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
ขอบคุณ hfocus.org