วาเลนไทน์ปีนี้ ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การออกไปสวีตหวานอาจจะไม่สะดวกนัก แต่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารปัจจุบัน ทำให้เราส่งต่อความรู้สึกดีๆ ถึงกันได้ง่ายขึ้นผ่านสื่อออนไลน์
ช่วงเทศกาลแห่งความรักนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงอยากชวนทุกคนมาส่งต่อความรัก ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจกัน ไม่เฉพาะแต่กับคนที่เรารัก แต่กับคนแวดล้อม เพื่อนฝูง และคนที่เราสื่อสารด้วยบนโลกออนไลน์
เพราะยุคนี้ทุกคนมีพื้นที่ส่วนตัวที่สามารถเชื่อมต่อกับคนอื่นได้มากขึ้น มีอิสระในการแสดงออกทางความคิดมากขึ้น ความคิดและคอมเมนต์ที่เราพิมพ์บนสื่อโซเชียลต่างๆ นั้น เมื่อเราปล่อยมันออกไป บางครั้งอาจจะกลายเป็นอาวุธที่ทำร้ายคนอื่นได้ โดยที่เราก็คาดไม่ถึง อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยในโลกออนไลน์ และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตของผู้คนที่เจอข้อความลบๆ ตามมาประเด็นที่เห็นได้มากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็คงเป็นการคอมเมนต์เชิงลบต่างๆ ซึ่งเกิดผลที่ตามมารุนแรงถึงชีวิต อย่างเช่น สตรีมเมอร์สาวเกาหลี หรือนักกีฬาวอลเลย์บอลชายเกาหลี ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง สาเหตุทนไม่ไหวจากคอมเมนต์รุนแรงที่เขาได้รับมานานสะสมกันบนโลกโซเชียล ตามที่เป็นข่าวไปเมื่อเร็วๆ นี้
ล่าสุด กสทช. เดินหน้าปลุกทักษะส่งต่อความรัก ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจให้แก่กันบนโลกออนไลน์ หรือ Digital Empathyผ่านหนังสั้นความยาว 11 นาที ผลงานผู้กำกับรุ่นใหม่ ปกป้อง ไพรัช คุ้มวัน ผู้กำกับ “สยามสแควร์” และเจ้าของรางวัลสุพรรณหงส์ สาขากำกับภาพยอดเยี่ยม ปี 2556 จากภาพยนตร์เรื่อง Mary is happy, Mary is happy รวมถึงรางวัลช้างเผือก มูลนิธิหนังไทย โดยหนังสั้นเรื่องนี้กสทช. ได้หยิบประเด็น“Digital Empathy” หรือความเห็นอกเห็นใจ รู้จักที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา มองคนอื่นอย่างเข้าใจในมุมเขาบ้าง ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่ผู้ใช้งานโลกออนไลน์ควรให้ความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบันมาพูดถึง
หนังเรื่องนี้พลิกโฉมแคมเปญรณรงค์ของหน่วยงานราชการที่เคยทำๆ กันมา และโดนใจคนดูอย่างมาก เพียงสัปดาห์เดียวมีคนดูถึง 1.5 ล้านวิวบนเฟซบุ๊ก กสทช.ด้วยความละเมียดละไมและความตื่นเต้นที่ทำให้คนดูติดตามดูจนจบ เนื้อหาอ้างอิงมาจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ช่วยกระตุกให้หลายๆ คนตระหนักถึงการกระทำของตัวเองบนสื่อโซเชียลว่าเพียงแค่ปลายนิ้ว ก็อาจทำร้ายหรือทำลายชีวิตคนได้ดังนั้นเราจึงควรมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้มากขึ้น ก่อนที่จะโพสต์หรือคอมเมนต์อะไรบนออนไลน์ (Digital Empathy)
กระแสคอมเมนต์ของคนในโซเชียลมีเดีย ทั้งอินฟลูเอนเซอร์และคนทั่วไปพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หนังสั้นเรื่องนี้ดีมาก และช่วยเตือนสติได้ดี จึงทำให้หนังถูกแชร์ต่อออกไปอย่างรวดเร็ว
อ่านมาถึงตรงนี้ ใครยังไม่เคยดูหนังสั้นเรื่องนี้ ต้องไปดูแล้วล่ะ! และช่วยแชร์ต่อๆ กันไปด้วย เพราะ 1 พลังการแชร์ จะช่วยเพิ่ม Digital Empathyสร้างความเข้าใจ และยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างได้ กสทช. เชื่อว่าวาเลนไทน์นี้ ทุกคู่รักและชาวเน็ตทุกคน จะส่งกำลังใจ ความเห็นอกเห็นใจ และความห่วงใยให้กันและกัน เพื่อผ่านเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน
สุขสันต์วันวาเลนไทน์!