จากกรณีที่ "อ.เจษฎ์" หรือ รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาให้ข้อมูล เกี่ยวกับการระบาดของ โควิด-19 โอมิครอน โดยระบุข้อความว่า
อัพเดตกราฟ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนนี้ ... ก็เป็นไปตามคาด ดังที่เคยคุยกันไว้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมนะครับ ว่ามันน่าจะมาถึงประเทศไทยเราในไม่ช้า และก็ระบาดพีคขึ้นไปในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม (ซึ่งก็จริงดังกราฟ)
จากกราฟ แม้ว่าตัวเลขจะไม่แม่นยำ (เราตรวจพีซีอาร์ได้แค่วันละ 4 หมื่นกว่าตัวอย่าง และผลตรวจเอทีเค ที่ไม่เข้าสู่ระบบ น่าจะมีอีกเยอะ) รวมทั้งอาการของโอมิครอนที่ไม่ค่อยป่วยกันมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ... จนบางคนประเมินว่า น่าจะคูณ 4 คูณ 5 จากตัวเลขที่รายงานนี้ได้เลย .. แต่เราก็เอามาใช้ดูเทรนด์ของการระบาดได้อยู่นะครับ
แม้ว่ากราฟ จะค่อนข้างชัน แต่ก็ยังถือว่าชันน้อยกว่าอีกหลายๆ ประเทศในเอเชียเรานี้ ก็แสดงว่าเรายังพอจะกดกราฟความเร็วในการแพร่ระบาดของโควิดระลอกนี้ได้อยู่ .. ซึ่งจำเป็นมากที่จะช่วยกันดึงไว้ ไม่ให้เร็วไป เพื่อป้องกันไม่ให้จำนวนผุ้ป่วยไปโหลดระบบสาธารณสุข จนล่มได้ เหมือนรอบเดลต้าที่ผ่านมา
จะเห็นว่ากราฟจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ ต้องเข้าโรงพยาบาลนั้น แม้ว่าจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงไม่พุ่งสูงขึ้นนัก หวังว่าจะรับมือกันไหวนะครับ
และ ถ้าเหมือนกับในต่างประเทศ ที่ช่วงการระบาดของโอมิครอน ค่อนข้างสั้น มาเร็วไปเร็ว ประมาณ 2 เดือน กราฟก็น่าจะลงในช่วงปลายมีนาคม
ส่วนด้านการรับมือกับโอมิครอน ก็ทำทุกอย่างแบบที่เราดูแลตัวเองกันอย่างที่ผ่านมาครับ ทั้งเรื่องการใส่หน้ากาก การฉีดวัคซีน การเว้นระยะห่าง และอย่าลืมเรื่อง "การระบายอากาศ" ดัวยครับ สำคัญมาก
ปล. พิมพ์ปี ค.ศ. ในกราฟผิดในครับ ขออภัยด้วย