จากกรณี วันที่ 20 ก.พ.65 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "นิธิพัฒน์ เจียรกุล" ระบุว่า
วันหยุดสุดสัปดาห์นี้ โควิดโอไมครอนเขายังไม่ยอมหยุดด้วย มีเพียงผ่อนหนักผ่อนเบาเป็นวันๆ ไป วันนี้แม้ยอดผลตรวจยืนยันจะวิ่งไปต่อเพิ่มอีกเล็กน้อยไม่ถึงร้อย แต่ยอดรวม ATK แล้วยังต่ำกว่าสามหมื่นและต่ำกว่าเมื่อวานไปหลายพัน ส่วนยอดผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจค่อยๆ เพิ่มต่อเข้าใกล้ 200 ไปทุกที ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตกำลังจะฝ่าแนวรับที่ 30 ไปได้แล้ว
ข้อมูลจากโรงพยาบาลหลายแห่งในกทม.และจังหวัดใหญ่ๆ เตียงสำหรับรับผู้ป่วยโควิดอาการหนักเริ่มร่อยหรอเต็มทีจนต้องเตรียมหาทางเพิ่ม แต่ส่วนใหญ่ที่หนักเป็นจากโรคพื้นฐานเองไม่ได้เป็นจากตัวโควิดโดยตรง
เรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์ยืดเยื้อมายาวนานเหมือนกัน จนโควิดจะซาปิดตลาดอยู่แล้ว สำหรับการนำยารักษาโรคหนอนพยาธิที่ชื่อว่า ไอเวอร์เม็คติน มาใช้รักษาผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่รุนแรง โดยหวังว่าจะช่วยชะลอการลุกลามของโรคและลดการเสียชีวิตลงได้ เนื่องจากยานี้มีราคาไม่แพงและหาได้ง่าย และมีการค้นพบว่ามีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสบางชนิดได้ โดยกลไกการออกฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสนั้นไม่ทราบแน่นอน ที่บ้านริมน้ำเองก็กำลังทำการศึกษาเปรียบเทียบยานี้กับยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้เป็นมาตรฐานอยู่ในบ้านเรา แต่ยังไม่เรียบร้อยดี พอดีมีการศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของเราเผยแพร่ออกมาก่อน จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง
ทีมวิจัยทำการศึกษาในโรงพยาบาล 20 แห่งของมาเลเซีย ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งช่วงนั้นเชื้อก่อโรคส่วนใหญ่น่าจะเป็นสายพันธุ์เดลต้า รวบรวมผู้ป่วยผู้ใหญ่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไปที่มีโรคร่วมอยู่ และป่วยด้วยโควิดแบบไม่รุนแรงจำนวน 490 คน แบ่งเป็นกลุ่มให้ยาไอเวอร์เม็คตินนานเป็นเวลา 5 วันร่วมกับการรักษาอื่นตามมาตรฐาน กับกลุ่มที่ได้รับการรักษาอื่นๆ ตามมาตรฐานอย่างเดียว โดยทั้งหมดจะต้องตรวจพบเชื้อหรือมีอาการของโรคมาไม่เกิน 7 วัน ผลการรักษาพบว่าทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันในแง่ของ การลุกลามของโรคต่อจนรุนแรง การเข้าไอซียู การใส่เครื่องช่วยหายใจ และการเสียชีวิต ซึ่งผลการศึกษานี้สอดคล้องกับคำแนะนำในปัจจุบัน ขององค์การอนามัยโลกและหน่วยงานทางการแพทย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล ที่ว่าการใช้ยาไอเวอร์เม็คตินในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการว่าได้ประโยชน์ ถ้าแพทย์จะใช้รักษาจริงจังขอให้เป็นไปเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น