ศบค. เผย ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 2 มีนาคม 2565 รวม 22,197 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 22,079 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 118 ราย ผู้ป่วยสะสม 711,109 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 19,093 ราย หายป่วยสะสม 524,245 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 218,784 ราย เสียชีวิต 45 ราย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้มีผู้ติดเชื้อหลายพันคนต่อวัน จนทำให้เตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ อีกทั้งผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล หรืออยู่โรงพยาบาลในระยะเวลาสั้นๆ และไปพักฟื้นต่อที่บ้านหรือสถานที่ที่รัฐจัดให้ได้
ผู้ที่เข้าข่ายต้องกักตัวเอง หลักๆ มีอยู่ 2 กลุ่ม
1. ผู้ที่มีความใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง
2. ผู้เดินทางมาจากเขตติดโรคติดต่ออันตรายทุกคน ผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่องหรือพื้นที่พบผู้ป่วย จึงย้ำว่าการกักตัวเอง เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคนี้ได้ ซึ่งประชาชนจะได้ไม่เป็นทั้งผู้แพร่เชื้อและผู้รับเชื้อ
เมื่อมีความจำเป็นต้องกักตัว 14 วันในหอพักหรือคอนโดมิเนียม มีแนวทางปฏิบัติอย่างไรบ้าง
1. วัดอุณหภูมิทุกวัน ต้องไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส
2. ปิดปากจมูกด้วยทิชชูทุกครั้งที่ไอ จาม ทิ้งทิชชูในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้ สนิท และทําความสะอาดมือทันที
3. แยกขยะที่ถูกสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากาก อนามัย กระดาษทิชชูโดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ราดด้วยนํ้ายาฟอกขาว มัดปากถุงให้แน่น ก่อนนําไปทิ้ง
4. หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ส่วนกลาง เช่น ล็อบบี้ ลิฟต์ กรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้หน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร หรือใช้เวลาให้สั้นที่สุด
5. หากมีผู้จัดอาหารหรือสั่งอาหารจากแหล่งอื่น ให้กําหนดจุดรับอาหาร เช่น แจ้งผู้ดูแล อาคารชุดเป็นกรณีพิเศษเพื่อมาส่งที่จุดรับอาหาร
6. ล้างมือด้วยนํ้าและฟอกสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
7. ทําความสะอาดโถส้วม อ่างล้างมือ หลังใช้งาน
8. งดใช้บริการร่วมกับผู้อื่น เช่น สระว่ายนํ้า ห้องออกกําลังกาย
9. หากจําเป็นต้องพบปะผู้อื่น ให้ใช้หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 - 2 เมตร และใช้เวลาให้สั้นที่สุด
10. งดกิจกรรมนอกบ้าน หยุดงาน หยุดเรียน งดไปในที่ชุมชน งดใช้ขนส่งสาธารณะ
ใครรักษาตัวแบบ Home Isolation ได้บ้าง
1. เป็นผู้ติดเชื้อที่สบายดี หรือไม่มีอาการ
2. มีอายุน้อยกว่า 75 ปี
3. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
4. ยินยอมแยกกักตัวในที่พักของตัวเอง
5. อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
6. ต้องไม่มีภาวะอ้วน
7. ไม่มีโรคร่วม ดังต่อไปนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(COPD), โรคไตเรื้อรัง (CKD ระยะที่ 3,4),โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ หรือโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
การกักตัวเองจะใช้เวลาประมาณ 14 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) ซึ่งกรมควบคุมโรคได้เผยแพร่ข้อมูล เพื่อให้ผู้ที่ต้องกักตัวเองปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ป่วยและผู้สูงอายุ
2. หยุดเรียนหรือทำงาน รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ
3. ปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชู่ ทุกครั้งที่ไอ จาม หากไม่มีกระดาษทิชชู ให้ใช้ต้นแขนด้านในหรือข้อศอกตัวเองแทนสิ่งสำคัญคือห้ามไอจามใส่ฝ่ามือตัวเอง
4. ห้ามกินอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น รวมถึงควรแยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ เป็นต้น
5. สวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร
6. แยกห้องนอน
7. ทำความสะอาดที่พักและของใช้
8. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
9. ทิ้งหน้ากากอนามัย หรือกระดาษทิชชูที่ใช้แล้วให้ถูกวิธี โดยทิ้งในถุงพลาสติก ปิดถุงให้สนิท มิดชิดก่อนทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิด ล้างมือด้วยสบู่และน้ำนานประมาณ 15-20 วินาที หรือแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไปทันที
วิธีกักตัว14วัน สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด19 กักตัวที่บ้าน กักตัวที่คอนโด กักตัวที่ห้องเช่า
ถ้าบ้านมีพื้นที่เพียงพอ ก็ให้ผู้ป่วยแยกไปอยู่ในห้องส่วนตัวคนเดียว ถ้าเป็นไปได้ควรเป็นห้องที่มีห้องน้ำในตัวแยกภาชนะของใช้ส่วนตัวส่วนเวลาทานข้าวให้เอามาวางไว้ให้ตรงหน้าห้องแล้วไลน์บอก เพื่อให้ผู้ป่วยเปิดประตูมาหยิบข้าวไปทานเองเพื่อหลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือการสัมผัสให้มากที่สุด หรือถ้าเป็นข้าวกล่องได้ก็จะดีมาก เพราะถ้าหยิบจานมาล้างอาจเสี่ยงสัมผัสเชื้อได้
ถ้าที่อยู่อาศัยเป็นคอนโด ห้องเช่า แฟลต ไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะแยกออกเป็นห้องชัดเจน เพื่อความปลอดภัย แนะนำ ให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องคนเดียว และคนอื่นที่ไม่ติดเชื้อให้ไปพักอาศัยที่อื่นเป็นการชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับคนในครอบครัว ท่านสามารถติดต่อเข้าขอรับบริการในสถานที่ ที่รัฐบาลได้จัดหาไว้ให้ตามข้อมูลด้านล่างนี้
นอกจากกักตัวเองแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำด้วยคือ การสังเกตอาการตัวเอง โดยการวัดอุณหภูมิร่างกายของตัวเองและจดบันทึกไว้เป็นประจำทุกวัน หากมีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส มีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ และหายใจเหนื่อยหอบ หรือมีอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรพบแพทย์ทันที และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทราบ
สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่
สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
สายด่วนสำนักงานประกันสังคม โทร 1506 กด 6 และกด 7
สายด่วน สปสช. โทร 1330 กด 14
สายด่วนศูนย์เอราวัณ กทม. โทร 1669
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กรมควบคุมโรค