นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ในเพจ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ถึงเรื่อง อาการหลังติดเชื้อโควิด-19
โควิด มีแบบสั้น..จะเอายาวก็ได้
สมองเสื่อม หลังโควิด ไม่ว่าจะอาการมากหรือน้อย เกิดได้
และเป็นที่ทราบกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ 2020
หมอดื้อ
15 สค 2564
โควิด–19 จนกระทั่งถึงปีนี้ 2021 น้องนุชสุดท้องตระกูลโคโรนา คงกำลังหัวเราะที่ประเมินศักยภาพของเธอต่ำไป ว่าแป๊บเดียวก็กลายเป็นไข้หวัดตามฤดูกาล และอื่นๆอีกมากมาย
ณ นาทีนี้ รูปแบบของการแพร่ การเพิ่มระดับ และการเพิ่มความรุนแรงของการระบาด เป็นที่ปรากฏได้ชัดเจนและอาวุธสำคัญของเธอที่จะออกมาใช้เต็มรูปแบบหรือไม่ คือการแพร่ทางอากาศแบบที่พี่ใหญ่ของเธอ คือ ซาร์ส ทำสำเร็จมาแล้วโดยเช่น
คนติดเชื้ออยู่ชั้นสอง คนอยู่ชั้น 15 พลอยติดไปด้วย จากการแพร่ทางระบบปรับอากาศกลาง แต่พี่ใหญ่ซาร์ส ไม่เก่งพอที่จะแพร่การระบาดให้ยืนยงคงนานข้ามปีอย่างเช่นโควิด
การทำให้เกิดโรคของน้องโควิดนี้มีได้แบบชนิดตอนเดียวจบ คือแบบสั้น ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ แพร่ไปให้คนอื่นเสร็จแล้วเชื้อก็หายไปจากตัว หรือติดเชื้อและเกิดอาการเบา กลาง หนัก จนถึงเสียชีวิต
หรือแบบต่อเป็นซีรีส์สั้น ก็คือหายจากอาการทางปอดและอวัยวะอื่นๆ แต่ตามต่อด้วยเส้นประสาทอักเสบ แขนขาอ่อนแรง อัมพาตหายใจไม่ได้ หรือมีสมองอักเสบแบบต่างๆ
ซีรีส์สั้นแบบนี้อยู่ในระยะเวลาสี่เดือน หรืออาจจะถึงหกเดือน ตั้งแต่ปี 2020 ที่เริ่มมีการระบาดใหม่ๆ ประเทศหรือพื้นที่ที่เริ่มมีเวลาหายใจหายคอจากการทะลักทลายของผู้ป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล ก็มีเวลาสังเกตและเจอคนที่เรียกว่าหายแล้ว นั่นก็คือออกจากโรงพยาบาลได้ ตรวจไวรัสไม่เจอว่ามีการปล่อยออกมาจากร่างกาย แต่อาการกลับไม่หายจริงและเกิดยืดยาวต่อเนื่อง หรือสงบแล้วปะทุใหม่เป็นพักๆ
รูปแบบลักษณะดังกล่าวนี้ทับซ้อนกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Myalgic Encephalomyelitis (ME)/Chronic fatigue syndrome (CFS) โดยลักษณะประกอบไปด้วยอาการปวดกล้ามเนื้อที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นในสมองและระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ตลอดเวลา มีอาการเหนื่อยล้ามหาศาล ทำงานไม่ได้ ขาดสมาธิ มีความผิดปกติทางระบบประสาทอัตโนมัติและไม่สามารถออกกำลังได้เลย
ตามประวัติศาสตร์สามารถสืบย้อนไปได้ตั้งแต่ในปี 1934 ในนครลอสแอนเจลิส ปี 1948 ที่ไอซ์แลนด์ ปี 1955 ที่ลอนดอน และในปี 1984 ที่เนวาดา
ในปี 1955 คุณหมอจากไอซ์แลนด์ได้เริ่มใช้เทอมหรือคำเรียก ME จากการเทียบเคียงลักษณะความผิดปกติในน้ำไขสันหลังระหว่างผู้ป่วยที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลรอยัลฟรีในลอนดอน และผู้ป่วยในปี 1948 ที่ไอซ์แลนด์ Akureyri
โดยลักษณะอาการบ่งบอกถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมองและไขสันหลังร่วมกับมีอาการปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงและมีอ่อนแรงและมีตะคริวร่วมด้วย
และจากหลายเหตุการณ์ต่อมาจนกระทั่งในปี 1984 ถึง 1985 ที่หมู่บ้าน Incline ในรัฐเนวาดาก็เกิดลักษณะที่คล้ายกันเช่นเดียวกัน โดยทั้งหมดนี้มีอาการเริ่มต้นเป็นแบบติดเชื้อด้วยไวรัสทั้งหมด
และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า chronic fatigue syndrome หรือ CFS ทั้งนี้ โดยเชื่อว่ากลุ่มอาการทั้งสองแบบนั้นน่าจะมีรากฐานเกี่ยวพันกับกระบวนการอักเสบในระบบประสาท
ในส่วนของน้องโควิดนี้ที่เจอกันและรวบรวมสถิติในประเทศอังกฤษ และจากการวิเคราะห์ในหลายประเทศพบว่าลักษณะของโควิด
ฉบับยาวอาจมีได้สูงถึง 50% หรือถึงครึ่งหนึ่งของผู้ที่หายจากโควิดฉบับสั้นไปแล้ว และอาการที่เกิดขึ้นมีได้เป็น 100 อย่างและครอบคลุมแทบจะทุกอวัยวะของร่างกาย โดยมีตัวร่วมโดยเฉพาะความแปรปรวนทางสมอง จิตและอารมณ์ แต่ขณะเดียวกันก็มีความคล้องจองเหมือนกับ ME/CFS ที่กล่าวแต่ต้น
ทั้งนี้ โควิดเก่งกว่ารุ่นแรกๆตั้งแต่ปี 1934 ทั้งนี้ เพราะกระทบในคนมากมายกว่า และอาการดูเหมือนจะรุนแรงมากกว่าที่เคยปรากฏมาก่อนในรุ่นแรกๆ
จากหลักฐานของ ME/CFS ที่ได้จากรุ่นแรกๆ ซึ่งอาจจะนำมาใช้อธิบายในโควิดนั้น โดยเป็นไปได้ว่าการอักเสบที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ เกิดขึ้นนอกสมองและระบบประสาท แต่สมองรับรู้โดยตอบโต้กับโมเลกุล ชิ้นส่วนเล็กๆของอนุภาคการอักเสบเหล่านี้ในเลือดและอาจเป็นไปได้ที่มีการส่งผ่านโมเลกุลเหล่านี้ผ่านผนังเส้นเลือดเข้าไปในสมอง ทั้งจากการนำพาเข้าไปหรือซึมผ่านเข้าสมองโดยตรงในบริเวณที่ผนังกั้นไม่แข็งแรงและนอกจากนั้นโมเลกุลของการอักเสบเหล่านี้ยังพบได้ในเส้นประสาทเวกัส หรือเส้นประสาทสมองเบอร์ 10 ที่ทอดยาวลงมายังลำไส้และสามารถส่งผ่านการอักเสบเหล่านี้ขึ้นไปจนกระทั่งถึงก้านสมองในวงจรของ NTS (nucleus tractus solitarius) ที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ รวมทั้งเส้นเลือดและหัวใจ เป็นต้น
และน่าจะมีผลตามติดต่อเนื่องไปถึงกระบวนการควบคุมการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ ที่มีการควบคุมจากสมองตั้งแต่ในส่วนของ ไฮโปธาลามัส (hypothalamus) ต่อมใต้สมอง (pituitary) และต่อเนื่องมาถึงระบบควบคุมฮอร์โมนต่างๆในร่างกายจนกระทั่งถึงต่อมหมวกไต
ปรากฏการณ์โควิดฉบับยาวจะกลายเป็นภาระสำคัญของระบบสาธารณสุขของทุกประเทศที่มีการระบาดของโควิด ทั้งนี้ เนื่องจากคนที่ถูกกระทบจะมีได้ทุกอายุไม่จำกัดเพศ และเกิดจากการติดเชื้อโควิดแบบรุนแรงและไม่รุนแรง ด้วยอาการที่เกิดขึ้นจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต ประสิทธิภาพของการทำงาน กระบวนการของความคิด แม้กระทั่งสมาธิ สติปัญญา ความจำจะถดถอย และรุนแรงถึงขนาดที่ต้องมีการปรึกษา หรือได้รับการรักษาจากแพทย์ในแทบทุกแขนง รวมกระทั่งถึงจิตแพทย์ เพราะมีความรู้สึกหดหู่ ปฏิเสธสิ่งรอบข้างจนกลายเป็นก้าวร้าว หรือมีปัญหา ทางสังคมแบบในปรากฏการณ์หลังจากที่มีภาวะเครียดอย่างรุนแรง (post traumatic stress syndrome)
เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องมองและเตรียมตัวไปพร้อมๆกัน แม้ว่าขณะนี้ที่เตรียมต้นฉบับในวันที่ 1 สิงหาคม 2021 ประเทศไทยยังร่อแร่อยู่กับโควิดชนิดม้วนเดียวจบและโควิดซีรีส์สั้น
และสะท้อนให้เห็นว่าการประเมินสถานการณ์เข้าข้างตัวเอง หรือปฏิเสธความจริงเป็นสิ่งที่ต้องไม่กระทำอีกต่อไป ถ้าเราผ่านพ้นหรือรอดจากสงครามโควิดครั้งนี้ไปได้.