28 มีนาคม 65 - นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี เปิดเผยในงานแถลง “Entering into The Next Phase of Growth”ว่า “ในปีนี้ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี วางแผนธุรกิจระยะยาว5 ปี (65-69) โดยใช้งบลงทุน 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 12,000-14,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมวางเป้าหมายให้เป็นบริษัทคนไทยที่ก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดโลกและเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยห่วงโซ่อุปทานที่มีธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บีเจซี มีผลงานที่แข็งแกร่งในหลายอุตสาหกรรมรวมถึงมีศักยภาพในการรองรับทางด้านโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย โดยมีเครือข่ายในภูมิภาค ที่สามารถใช้เป็น platform ในการกระจายสินค้าเพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจแบบก้าวกระโดดมากกว่า236,000แห่งอาทิ เมียนมา มาเลเซีย เวียดนามจีน สปป.ลาว และกัมพูชาเป็นต้นนอกจากนี้บริษัทยังมุ่งมั่นพัฒนาวิจัยสินค้าร่วมกับพันธมิตรเพื่อกระจายสินค้าไปยังทั่วภูมิภาคอาเซียน”
ทั้งนี้ บริษัท วางแผนรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาโดยการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่เข้าใช้บริการว่าบริษัทมีการดูแลด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัดและได้มาตรฐาน รวมถึงเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าแบบออนไลน์และจัดส่งถึงหน้าบ้านได้อย่างถูกต้องและตรงเวลาและสำหรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ระดับราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะสงครามยูเครน - รัสเซีย ส่งผลต่อธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจกระป๋องบริษัทจึงเดินหน้าเพื่อบริหารจัดการต้นทุนการผลิต โดยการมุ่งเน้นที่การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต รวมทั้งมีการบริหารจัดการความเสี่ยงในเรื่องราคาของวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง
สำหรับทิศทางการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกบริษัทวางแผนการขยายช่องทางการค้าแบบ Omni-channelผลักดันยอดขายเพิ่มประสบการณ์ของลูกค้าทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และการบริการจัดส่งเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ผ่านบิ๊กซี แอปพลิเคชั่น, Call for shop,Line chat shop, Drive thru, บริการจัดส่งด่วนภายใน 1 ชั่วโมงและความร่วมมือผ่านการกับขยายช่องทางการค้ากับพันธมิตรชั้นนำต่างๆ รวมถึงผลักดันยอดขายสินค้าเฮาส์แบรนด์ของบิ๊กซีให้เป็น Top of Mind ทั้งในแง่คุณภาพและราคาโดยตั้งเป้ายอดขายที่5 หมื่นล้านบาทภายในปี 2569อาทิWe are fresh, Besico, Big C Happy Price, Big C Happy Price pro เป็นต้น
บริษัทมีการวางแผนในการเร่งขยายช่องทางทุก platformเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุก lifestyle และจำนวนสาขาเพื่อให้สะดวกต่อการเข้าใช้บริการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ภายในปี 2569 ประกอบด้วย ในไทยขยาย บิ๊กซี ไฮเปอร์มาเก็ตเพิ่มเป็น 160 สาขาจากปัจจุบัน 153 สาขา,บิ๊กซี มินิ เพิ่มเป็น 2,853 สาขา จากปัจจุบัน 1,352 สาขา, บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต และขายส่ง เพิ่มเป็น 84 สาขา จากปัจจุบัน 59 สาขาในกัมพูชา ขยาย บิ๊กซี ไฮเปอร์มาเก็ต เพิ่มเป็น 6 สาขาจากปัจจุบัน 1 สาขา,บิ๊กซี มินิ เพิ่มเป็น 276 สาขา จากปัจจุบัน 1 สาขาใน สปป.ลาว ขยาย บิ๊กซี ไฮเปอร์มาเก็ต2 สาขา,บิ๊กซี มินิ เพิ่มเป็น 245 สาขา จากปัจจุบัน 57 สาขา
ในขณะเดียวกัน บริษัท วางแผนขยายสาขา บิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ตในชื่อ “Big CPlace”ในกรุงเทพฯ เสนอประสบการณ์การช้อปปิ้งที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น ภายในระยะเวลา 5 ปี และจะรีโนเวท บิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต90 สาขา ทั่วประเทศภายใน2565–2569 เพื่อพัฒนาปรับปรุงสาขาให้ดูทันสมัย เพิ่มร้านอาหารชื่อดังตอบสนองความต้องการทั้งของครอบครัวและคนรุ่นใหม่ทุกเพศทุกวัย เพิ่มพื้นที่ co working space และ relax zone เพื่อทำให้เป็นจุดหมายของคนรุ่นใหม่พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับความต้องการของชุมชนตลอดจนการช่วยเหลือผ่านการเข้าซื้อโดยตรงจากเกษตรกรท้องถิ่นและการใช้เทคโนโลยีโมเดลธุรกิจ O2O (Online to Offline) เป็น การผสมผสานระหว่างธุรกิจจากออนไลน์ไปยังออฟไลน์เพื่อสร้างจุดแข็งในการแข่งขันในอนาคต รวมทั้งการสร้าง New Business Model ให้มีความหลากหลาย ตอบโจทย์ลูกค้าขนาดใหญ่และเข้าถึงลูกค้าระดับชุมชน อาทิเช่น เอ็มเอ็มฟู้ดเซอร์วิส และธุรกิจร้านค้า “โดนใจ”
ในกลางปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดโมเดลธุรกิจเอ็มเอ็มฟู้ดเซอร์วิส (MM Food Service)ในประเทศไทยสาขาแรกที่โชคชัย4เป็นร้านธุรกิจรูปแบบขายส่ง ด้วยกลุ่มสินค้ากว่า 6,000 รายการ ครบจบในที่เดียว มุ่งเป้าหมายไปที่ลูกค้ากลุ่มโรงแรมและร้านอาหารเป็นหลักที่ต้องซื้อสินค้าในครั้งละจำนวนมากและวางแผนเปิดสาขาเพิ่มภายในปี2569 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา สำหรับธุรกิจร้านค้า “โดนใจ” ที่บริษัทได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน ร้านค้า ผู้ประกอบการ โชห่วย ร้านค้ารายย่อย กว่า 498 ราย (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 65) ให้ดำเนินธุรกิจได้และมีรูปแบบที่ทันสมัย แต่ยังคงความเป็นเจ้าของร้านค้าของผู้ประกอบการนั้น
ด้าน บีเจซี บริษัทวางแผนขับเคลื่อนองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนและจริงจังเพื่อเป็นผู้นำด้านธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ธุรกิจแก้วโดยมีกำลังการผลิต4,000 ล้านขวดต่อปีธุรกิจกระป๋องอลูมิเนียมในประเทศไทย โดยมีกำลังการผลิต5,430ล้านกระป๋องต่อปีรวมถึงวางแผนเปิดสายการผลิตเตาแก้วใหม่ในปี 2568 และเป็นตัวกลางขนส่งเพื่อนำขยะรีไซเคิลจาก “ผู้ทิ้งหรือผู้ขายขยะรีไซเคิล” เพื่อส่งมอบไปยัง “ร้านรับซื้อขยะรีไซเคิล” เข้าสู่กระบวนการจัดการค้าวัสดุรีไซเคิล เพื่อคัดแยก ผ่านแอปพลิเคชั่น “ซี ซาเล้ง”ด้วยบริการที่เป็นเลิศ คุณภาพที่โดดเด่น และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ต่อยอดธุรกิจใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเดิมที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญเช่นธุรกิจเครื่องมือแพทย์ พัฒนาเป็น Platform เพื่อสุขภาพสถานพยาบาลเพื่อรองรับ Aging Society
นอกจากนี้ “บริษัทฯ ตอกย้ำการดำเนินกิจการเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าและบริการครบวงจร ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน 4 ด้าน ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม สาธารณสุขชุมชน และการศึกษา โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา บีเจซี ได้รับรางวัลด้านความยั่งยืน อาทิ Dow Jones Sustainability Indices of Silver Class 2022, FTSE4Good, THIS Thailand Sustainability Investment 2021 และ ESG100 เป็นต้น รวมถึงกิจกรรม พี่หมีบิ๊กกี้ ชวน recycle, ช่วยเหลือภาครัฐและเอกชนสนับสนุนอุปรณ์ทางการแพทย์และสร้างโรงพยาบาลเพื่อเป็นศูนย์รักษาผู้ป่วยโควิด-19, ช่วยเหลือมูลนิธิคนตาบอดแห่งประเทศไทย และช่วยเหลือโรงเรียนต่างๆ ในชุมชน เป็นต้น และตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และ การใช้ผลิตภัณฑ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มแหล่งกักเก็บ และ ดูดซับคาร์บอน เป็นต้น” นายอัศวิน กล่าว