วันนี้ (29 มีนาคม 2565) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงประเด็นการบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19
นพ.ธงชัยกล่าวว่า ประเทศไทยมีการใช้ยารักษาผู้ป่วยโควิด 19 หลายชนิด ทั้งยาฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ ล่าสุดมีการทำสัญญาจัดหายาแพกซ์โลวิดเข้ามาเพิ่มเติม โดยในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ ข้อมูลวันที่ 28 มีนาคม 2565 มียาคงคลังทั่วประเทศ 25 ล้านเม็ด อยู่ในส่วนกลาง 2.2 ล้านเม็ด ในโรงพยาบาลต่างๆ 22.8 ล้านเม็ด เมื่อโรงพยาบาลใช้ยากับผู้ป่วยจะรายงานผ่านระบบออนไลน์ (VMI) เพื่อให้ส่วนกลางส่งยาเพิ่มเติมสำรองในคลังยาสำหรับใช้ประมาณ 10 วัน โดยมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยจัดหายา อย่างไรก็ตาม ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา บางพื้นที่มีผู้ป่วยสูงขึ้นและยังไม่ได้บันทึกข้อมูลการใช้ยาให้เป็นปัจจุบัน ทำให้ส่วนกลางไม่ทราบข้อมูลการใช้ยาจริงและไม่สามารถเติมยาได้ทัน แต่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสามารถบริหารจัดการยาระหว่างโรงพยาบาลภายในจังหวัดได้ และรายงานส่วนกลางเพื่อจัดส่งยาเพิ่มเติมทันที ยืนยันว่าไม่มีการขาดแคลนยา
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ช่วงวันที่ 1-28 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้กระจายยาฟาวิพิราเวียร์ไปแล้ว 72 ล้านเม็ด ขณะนี้มีอัตราการใช้ยาประมาณวันละ 2 ล้านเม็ด หรือ 14 ล้านเม็ดต่อสัปดาห์ ขณะที่องค์การเภสัชกรรมมีการจัดหาประมาณ 15-20 ล้านเม็ดต่อสัปดาห์ จึงอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการใช้ โดยแนวเวชปฏิบัติในการรักษาโควิด 19 ในขณะนี้ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับยายาฟาวิพิราเวียร์ทุกราย ซึ่งที่ผ่านมา พบว่ามีการใช้ยารักษาตามอาการมากที่สุด 52% ใช้ยาฟ้าทะลายโจร 24% ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ใช้ 26% โดยแพทย์จะพิจารณาการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลเพื่อลดผลกระทบต่อตับหรือไต รวมถึงป้องกันปัญหาการดื้อยา
ภญ.ศิริกุล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งแผนความต้องการให้องค์การเภสัชกรรมจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 110 ล้านเม็ด เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีการจัดส่งแล้วจำนวน 80 ล้านเม็ด และกำลังทยอยส่งมอบอีก 30 ล้านเม็ดจนครบในช่วงกลางเดือนเมษายน 2565 อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งแผนความต้องการยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์เพิ่มอีกจำนวน 75 ล้านเม็ด เพื่อรองรับสถานการณ์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่อาจจะมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น โดยเบื้องต้นเป็นยาฟาวิพิราเวียร์จำนวน 50 ล้านเม็ด คาดว่าจะส่งมอบได้ในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้ จำนวน 30 ล้านเม็ด และช่วงปลายเดือนเมษายนอีก 20 ล้านเม็ด ส่วนอีก 25 ล้านเม็ดที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเป็นยาโมลนูพิราเวียร์ทั้งหมดหรือไม่ โดยอยู่ระหว่างการหารือและต่อรองราคาก่อนแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาจำนวนการจัดซื้อ โดยเบื้องต้นบริษัทยืนยันว่าสามารถจัดส่งยาโมลนูพิราเวียร์ให้ได้จำนวน 10 ล้านเม็ดใน 2 สัปดาห์หลังทำสัญญาซื้อขาย ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการจัดส่งยาตามการจัดสรรให้กับหน่วยบริการแม่ข่ายในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตามแผนกระจายยาของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาอย่างเพียงพอ
ด้าน นพ.มานัส กล่าวว่า กรมการแพทย์ ร่วมกับ อาจารย์แพทย์และผู้ทรงคุณวุฒิ จากสมาคม/ราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการรักษาโรคโควิด 19 โดยปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์และหลักฐานเชิงประจักษ์ ปัจจุบันเป็นฉบับที่ 21 ออกใช้เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ซึ่งปรับให้เข้ากับสถานการณ์ของเชื้อโอมิครอนที่ติดเชื้อได้ง่าย แต่อาการไม่รุนแรง โดย
1.กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือสบายดี จะรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน (OPSI) ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส เนื่องจากสามารถหายได้เอง แต่อาจพิจารณาให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์ แต่ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาต้านไวรัส เพราะมีผลต่อตับ อาจทำให้ตับทำงานมากขึ้น
2.กลุ่มที่มีอาการไม่มากหรือเล็กน้อย ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ไม่จำเป็นต้องรับยาทุกราย โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ตามความเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดปอดอักเสบ คือ กลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้น ผู้ที่มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ ที่รับวัคซีนไม่ครบ ซึ่งยาจะมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเต็มที่คือการให้ภายใน 5 วัน ถ้าเกินกว่านั้นจะไม่ได้ประโยชน์
“ข้อควรระวังการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ คือ หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรกที่จะมีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กทารกในครรภ์ได้ กลุ่มที่มีปัญหาตับและกรดยูริก เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์มีผลต่อการระคายเคืองทางเดินอาหาร ทำให้การทำงานของตับและไตสูงขึ้น ทำให้กรดยูริกสูงขึ้น รวมถึงผู้ที่รับประทานยาประจำตัวจะต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงต่อตับ สิ่งสำคัญคือต้องใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช้ยามากเกินความจำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงเชื้อดื้อยา เลี่ยงโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยา และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่อาจเกินความจำเป็น” นพ.มานัสกล่าว