เช็กวิธีฟื้นฟูร่างกาย จากอาการลองโควิด (Long COVID) ด้วยการออกกำลังกาย

09 พฤษภาคม 2565

เช็กวิธีฟื้นฟูร่างกาย จากอาการลองโควิด (Long COVID) ด้วยการออกกำลังกาย ที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายในแต่ละระยะ

ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย เผยว่าปัจจุบันราวร้อยละ 10-20 ของผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 จะประสบกับ "กลุ่มอาการหลังโควิด 19" หรือที่เรียกว่า "ลองโควิด" อันประกอบด้วยอาการเรื้อรังมากมาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้แม้กับผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลย

เช็กวิธีฟื้นฟูร่างกาย จากอาการลองโควิด (Long COVID) ด้วยการออกกำลังกาย

อาการลองโควิดจะเริ่มขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิด 19 แบบรุนแรงเฉียบพลัน แต่ก็สามารถเกิดขึ้นในลักษณะที่ต่อเนื่องจากอาการป่วยที่มีมาแต่ต้นได้ด้วย อาการลองโควิดเกิดขึ้นและหายไปตามกาลเวลา และในบรรดาอาการที่พบกว่า 200 อาการ 3 อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ หายใจไม่อิ่ม สมองล้า และอ่อนเพลีย

 

ด้าน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ข้อมูลข้อมูลอ้างอิง จาก อ.พญ.ฑิมภ์พร วิทูรพงศ์ ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู เผยว่า Long COVID คือ กลุ่มอาการหรือความผิดปกติภายหลังจากที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งในปัจจุบันมีแนวทางในการฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายได้ ด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายในแต่ละระยะ ดังนี้

 

สัปดาห์ที่ 1
เตรียมความพร้อมของร่างกาย ควรใช้การเดิน ฝึกการหายใจเข้า-ออก ให้สุดแบบช้า ๆ ให้อยู่ในระดับไม่เหนื่อยหรือเหนื่อยเล็กน้อย

สัปดาห์ที่ 2
ออกกำลังในระดับเบา เช่น การเล่นโยคะเบา ๆ การทำงานบ้านเบา ๆ และเพิ่มระยะเวลาเป็นวันละ 10-15 นาที และให้อยู่ในระดับรู้สึกเหนื่อยเพียงเล็กน้อย

สัปดาห์ที่ 3
ออกกำลังกายในระดับปานกลาง เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง เช่น การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น

สัปดาห์ที่ 4
เพิ่มความซับซ้อนในการเคลื่อนไหว เช่น การวิ่งเปลี่ยนทิศทาง การวิ่งไปทางด้านข้าง และสามารถสลับวันในการออกกำลังกายได้เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลีย

สัปดาห์ที่ 5
ในระยะนี้สามารถกลับไปออกกำลังได้ตามปกติ และสามารถเพิ่มระดับความหนักของการออกกำลังได้เท่าที่สามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยังระบุอีกว่า หากรู้สึกอ่อนเพลีย หรืออ่อนล้าในวันถัดไปแนะนำให้พัก และลดระดับความหนักของการออกกำลังกายลง

เช็กวิธีฟื้นฟูร่างกาย จากอาการลองโควิด (Long COVID) ด้วยการออกกำลังกาย