หลังจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวให้มีการปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์ใน ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ได้สิทธิยาวนานมากขึ้น รวมถึงให้สิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มอีกหลายรายการ โดยหนึ่งในสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ..... ฉบับนี้ คือการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพอันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนมาตรา 33
ผู้ประกันตนมีโอกาสเลือกบริหารจัดการเงินที่สะสมไว้เพื่อโอกาสต่างๆ มากขึ้น กับเกณฑ์ใหม่ "3 ขอ"
1. ขอเลือก : มีสิทธิเลือกรับเงินบำนาญชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพ เมื่อนำส่งเงินสมทบครบเงื่อนไขการได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว
2. ขอกู้ : นำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน
3. ขอคืน : สามารถนำเงินกรณีชราภาพที่ตนสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนสามารถเข้าไปตรวจสอบเช็กยอดเงินสะสมประกันสังคม ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th พร้อมกับคำนวณเงินชราภาพได้ง่ายๆ ดังนี้
วิธีตรวจสอบ เช็กยอดเงินสะสมประกันสังคม
1. เข้าเว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th หลังจากนั้นเข้าสู่ระบบผู้ประกันตน / สมัครสมาชิก (มุมขวาบน)
2. กรอกเลขบัตรประชาชนและรหัสผ่าน
3. สำหรับคนที่เข้าเว็บนี้ครั้งแรกต้องทำการสมัครสมาชิก กรอกหมายเลขโทรศัพท์เพื่อรับรหัสการยืนยันตัวตน
4. ล็อคอินเข้าระบบและเลือกผู้ประกันตน
5. เข้าสู่หน้า "ตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตน" โดยจะแสดงรายละเอียดของผู้ประกันตน
6. คลิก "ข้อมูลการส่งเงินสมทบ" ระบบจะแสดงงวดเงินสมทบ วันที่ชำระเงิน% เงินสมทบ รวมถึงจำนวนเงินที่ผู้ประกันตนนำส่ง
7 . สำหรับการตรวจสอบเงินสงเคราะห์ชราภาพเลือกที่ "การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ" โดยจะมีข้อมูลทั้งจำนวนเงินสมทบของรัฐ นายจ้าง รวมถึงผู้ประกันตน และยอดเงินรวมรายปี
นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคม ได้เคยแจกสูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพ พร้อมกับตารางเช็กเงินสมทบเงินบำนาญ มีรายละเอียดดังนี้
เงินบำนาญ คือ เงินกรณีชราภาพที่ประกันสังคมจ่ายให้ผู้ประกันตนรายเดือนตลอดชีวิต ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และบวกเพิ่มอีก 1.5% ของระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุกๆ 12 เดือน
สูตรคำนวณ (กรณีจ่ายครบ 180 เดือน)
20 x 15,000/100 = 3,000 บาท
สูตรคำนวณ (กรณีเกิน 180 เดือน)
20+(1.5 x จำนวนปี)/100 x 15,000
ตารางเช็กเงินสมทบเงินบำนาญ
ระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ (ปี)
- 15-20 ปี ร้อยละของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (%) 20.00-27.50 จำนวนเงิน 3,000-4,125 บาทต่อเดือน
- 21-25 ปี ร้อยละของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (%) 29.00-35.00 จำนวนเงิน 4,350-5,250 บาทต่อเดือน
- 26-30 ปี ร้อยละของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (%) 36.50 - 42.50 จำนวนเงิน 5,475-6,375 บาทต่อเดือน
- 31-35 ปี ร้อยละของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (%) 44.00 – 50.00 จำนวนเงิน 6,600 -7,500 บาทต่อเดือน
ขอบคุณ สำนักงานประกันสังคม